กรมวิชาการเกษตร ลุยถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตเห็ดแบบ Low Carbon ช่วยเกษตรกรสร้างรายได้หลักแสนบาทต่อปีอย่างยั่งยืน
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า การเพาะเห็ดเป็นการนำวัสดุที่เหลือใช้ในพื้นที่มาใช้ประโยชน์และสร้างรายได้แก่เกษตรกรในพื้นที่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สวพ.1) กรมวิชาการเกษตร จึงได้ศึกษาวิจัยการเพาะเห็ดโดยนำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรเกี่ยวข้องกับการผลิตเห็ดมาทดสอบเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการผลิตเห็ดชนิดต่างๆ มาพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่ภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยใช้แนวคิดลดการปลดปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ และลดขยะให้เป็นศูนย์ พร้อมกับได้จัดทำโรงเรือนต้นแบบการเพาะเห็ดเศรษฐกิจ ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร สูง 2.5 เมตร ขึ้นภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ เพื่อใช้สาธิตและเพาะเห็ดเศรษฐกิจที่สามารถเจริญเติบโตให้ผลผลิตเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่โครงการ 8 ชนิด ได้แก่ เห็ดหอม เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดขอนขาว เห็ดหูหนู เห็ดหลินจือ และเห็ดหัวลิง โดยมีแผนการผลิตเห็ดตลอดทั้งปีในโรงเรือนต้นแบบตามช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตของเห็ดแต่ละชนิด
จากการศึกษาเทคโนโลยีการผลิตเห็ดที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ พบว่าการผลิตเห็ดให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพต้องการปัจจัยต่างๆ ที่สนับสนุนการเจริญเติบโต ได้แก่ อุณหภูมิในช่วงการเจริญเติบโตของเส้นใย คือ 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นในถุงอาหารเพาะ 55-60 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเปิดดอกต้องการความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ประมาณ 70-90 เปอร์เซ็นต์ โรงเรือนเพาะเห็ดควรมีอากาศถ่ายเทได้ดี ช่วงเปิดดอกต้องการแสงเล็กน้อย วัสดุเพาะควรมีสารอาหารพอเพียงตามที่เห็ดแต่ละชนิดต้องการ และมีสภาพเป็นกรดอ่อนจนถึงระดับกลาง การใช้วัสดุเพาะจากขี้เลื่อยไม้จามจุรีอัตรา 50 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับขี้เลื่อยไม้ยางพารา อัตรา 50 เปอร์เซ็นต์ ในการเพาะเลี้ยงเห็ดหอม นอกจากจะได้ผลผลิตดีแล้วยังสามารถลดต้นทุนได้อีกด้วย เมื่อได้นำเทคโนโลยีจากกรมวิชาการเกษตรไปใช้ในการผลิตเห็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ขี้เลื่อยไม้ท้องถิ่น สามารถลดต้นทุนในการผลิตเห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรม เห็ดหลินจือ ได้ 4,600 บาท/โรงเรือน และลดต้นทุนการผลิตเห็ดหอมลงได้ 3,500 บาท/โรงเรือน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้ สวพ.1 ยังได้ทำงานทดสอบร่วมกับเกษตรกรในการลดขนาดก้อนวัสดุเพาะเห็ดจากเดิมที่เกษตรกรใช้มีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ซึ่งขนาดค่อนข้างใหญ่ โดยปรับเปลี่ยนมาใช้ก้อนเห็ดขนาดที่เล็กลงจากเดิมประมาณ 100-200 กรัม ซึ่งนอกจากจะให้ผลผลิตไม่ต่างจากการใช้ขนาดก้อนปกติแล้ว ยังช่วยลดความเสียหายจากการปนเปื้อนเชื้อโรคที่มักเข้าทำลายระหว่างการเจริญของเส้นใยในช่วงบ่มเชื้อเห็ดด้วย ซึ่งจากความรู้ที่เกษตรกรได้รับทำให้มีการบริหารจัดการหมุนเวียนทรัพยากรภายในฟาร์มอย่างรู้คุณค่า ทรัพยากรทั้งหลายภายในแปลงสามารถหมุนเวียนเป็นประโยชน์กับกิจกรรมอื่นๆ เช่น เศษกิ่งไม้ที่ได้จากการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ผลถูกรวบรวมและนำมาใช้ประโยชน์เป็นฟืนชั้นดีสำหรับการผลิตเห็ดหอมและเห็ดเศรษฐกิจอื่นๆ ก้อนเชื้อเห็ดที่เก็บผลผลิตแล้ว เกษตรกรนำมาใช้ในการปรับปรุงดินในสวนส่งผลให้ต้นไม้ที่ปลูกไว้ นอกจากจะได้รับธาตุอาหารที่เหลืออยู่ในก้อนเห็ดเก่าแล้ว ขี้เลื่อยก้อนเห็ดเก่ายังช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ทำให้สภาพดินร่วนซุย เกิดเป็นวงจรของการเกื้อกูลกันของกิจกรรมต่างๆ ภายในฟาร์ม ทำให้ระบบของฟาร์มเกษตรกรมีขยะเป็นศูนย์ ช่วยลดรายจ่ายและปรับเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
สำหรับฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการเพาะเห็ดแต่ละชนิด ได้แก่ เห็ดหอม จะเพาะได้ดีในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ที่มีอุณหภูมิ 20-28 องศาเซลเซียส เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดเป๋าฮื้อและเห็ดหูหนู เพาะได้ดีในเดือนพฤษภาคม-กันยายน อุณหภูมิ 20-32 องศาเซลเซียส เห็ดขอนขาว เพาะได้ดีในช่วงอากาศร้อน ในเดือนมีนาคม-ตุลาคม อุณหภูมิ 30-37 องศาเซลเซียส เห็ดหลินจือ เพาะได้ดีในเดือนพฤษภาคม-กันยายน อุณหภูมิ 26-28 องศาเซลเซียส ส่วนเห็ดหัวลิง เพาะได้ดีในเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน อุณหภูมิ 15-28 องศาเซลเซียส โดยเห็ดที่เพาะแล้วให้รายได้สุทธิมากที่สุด คือ เห็ดนางฟ้าภูฏาน ซึ่งเพาะแล้วได้รายได้สุทธิ 15,000-43,000 บาทต่อรุ่นต่อโรงเรือน สูงกว่าการเพาะเห็ดชนิดอื่นๆ
“เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการผลิตเห็ดของกรมวิชาการเกษตรไปสู่การใช้ประโยชน์ของเกษตรกรและผู้สนใจในการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต สวพ.1 ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเห็ดให้แก่เกษตรกรที่อยู่บริเวณรอบศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันฯ ซึ่งเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมและได้รับคำแนะนำด้านการเพาะเห็ดแล้วนำกลับไปประกอบเป็นอาชีพจนประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ 165,000-609,000 บาท /ปี และยังสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่นและเป็นสถานที่ศึกษาดูงานให้แก่ผู้ที่สนใจทั่วไปด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
1041