พาณิชย์ แนะ SME ลดเสี่ยง ทรัมป์ 2.0 ใช้สิทธิ์ FTA กระจายตลาดส่งออก
กรมการค้าต่างประเทศ แนะผู้ประกอบการ SME ลดความเสี่ยงจากนโบบาย ทรัมป์ 2.0 ใช้สิทธิ์ FTA กระจายความเสี่ยงการส่งออกไปยังตลาดที่ไทยมี FTA แต่ต้องผลิตสินค้าให้ถูกต้องตามกฎถิ่นกำเนิดสินค้า เปิดแผนปี 68 เตรียมลุยจัดสัมมนาให้ความรู้ SME ใน 10 จังหวัด ติวเข้มการใช้ประโยชน์จาก FTA พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้ใช้สิทธิ์ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเปิดงานสัมมนาภายใต้โครงการส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล เรื่อง “FTA ขยายธุรกิจ พิชิตส่งออก” ณ โรงแรม อวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ ว่า การจัดสัมมนาในครั้งนี้ ได้เชิญภาคเอกชนมาร่วมถกประเด็นร้อน โอกาสและความท้าทายจากสถานการณ์ทางการค้าโลก ในยุค ทรัมป์ 2.0
โดยกรมเห็นว่า FTA จะเป็นทางรอดธุรกิจไทยในการส่งออก เพราะจะช่วยกระจายความเสี่ยงการส่งออกไปยังตลาดใหม่และตลาดที่ไทยมี FTA ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกไทยมีแต้มต่อด้านภาษี แต่ในการผลิตต้องให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content) ให้ได้ถิ่นกำเนิดไทยตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการถูกเพ่งเล็งว่าเป็นสินค้าที่ปลอมแปลงหรือแอบอ้างถิ่นกำเนิดจากประเทศที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าแบบแข็งกร้าว
ทั้งนี้ กรมมีแผนที่จะผลักดันให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าจาก FTA ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อย่างเต็มที่ โดยมีแผนจัดสัมมนาต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2568 เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทยทั่วประเทศรวม 10 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา ลำพูน หนองคาย นครพนม นครราชสีมา กาญจนบุรี บุรีรัมย์ และสงขลา
โดยครั้งถัดไปเดือน ม.ค.2568 ที่จังหวัดระยอง ซึ่งการจัดสัมมนาทั้งหมดนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SME ให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ลดภาษีนำเข้า เพิ่มผลกำไร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีทักษะและศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจเพื่อขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“กรมคาดว่า ในปี 2568 การใช้สิทธิ FTA จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการส่งออกผ่านการใช้สิทธิ FTA และสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA ที่จะเป็นแต้มต่อให้สินค้าไทย ในการรักษาตลาดและขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวการณ์แข่งขันของการค้าระหว่างประเทศที่มีความเข้มข้น โดยอันดับหนึ่งคาดว่าจะยังคงเป็นตลาดอาเซียน และน่าจับตาการส่งออกไปเวียดนาม ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงตลาดจีน ที่มีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะทุเรียนสด ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด”
นางอารดา กล่าวว่า นอกจากเป็นหน่วยงานที่ร่วมเจรจาด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าให้เหมาะกับรูปแบบการผลิตสินค้าของไทยแล้ว กรมยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ของความตกลง FTA โดยดูแลการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่จะใช้ประกอบการลดหรือยกเว้นภาษีขาเข้าจากประเทศคู่ภาคี
โดยปัจจุบันได้มีการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ทั้งความตกลงที่มีอยู่เดิม เช่น อาเซียน-ออสเตรเลีย-0นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ที่เพิ่มรูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่ให้มีการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-CO ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2568 และความตกลงฉบับใหม่ล่าสุด ได้แก่ FTA ไทย-ศรีลังกา (SLTFTA) ที่คาดว่าจะใช้บังคับในวันที่ 1 มี.ค.2568