พาณิชย์ โชว์ผลงาน หลังเซ็นขายมันจีน ส่งออกแล้ว 8.71 แสนตัน มูลค่า 5,333 ล้าน
พาณิชย์ โชว์ผลงานผลักดันส่งออกมันสำปะหลังไปจีน หลังจากลงนามสัญญาซื้อขายและลงนาม MOU ซื้อขาย ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ม.ค.68 ล่าสุดส่งออกไปจีนแล้ว 871,575 ตัน มูลค่า 5,333 ล้านบาท ดูดซับหัวมันสดในประเทศได้กว่า 2.07 ล้านตัน
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลักดันการส่งออกมันสำปะหลังไปยังจีนว่า ตั้งแต่มีการลงนามสัญญาซื้อขาย และลงนาม MOU ซื้อขายมันสำปะหลังกับผู้ประกอบการจีน เมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค.2568 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ได้รับรายงานจากกรมการค้าต่างประเทศว่าได้อนุญาตให้ส่งออกมันเส้นและมันอัดเม็ดแล้ว ปริมาณ 871,575 ตัน มูลค่า 5,333 ล้านบาท
โดยปริมาณคิดเป็น 89% ของปริมาณที่ลงนามซื้อขายและลงนาม MOU รวมกันจำนวน 9.8 แสนตัน และดูดซับหัวมันสดในประเทศได้กว่า 2.07 แสนตัน และยังเป็นที่น่ายินดี คือ มีการส่งออกไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่เป็นตลาดใหม่ของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญด้วย
ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศได้เร่งผลักดันการส่งออกสินค้ามันสำปะหลัง ตามนโยบายรัฐบาล โดยจัดคณะผู้แทนการค้าภาครัฐและเอกชนเดินทางไปจีน ณ นครเซี่ยงไฮ้ และนครเฉิงตู เมื่อวันที่ 6-8 ม.ค.2568 และจัดพิธีลงนามสัญญาซื้อขาย (Purchasing Order) จำนวน 4.4 แสนตัน มูลค่า 5,314.95 ล้านบาท
และวันที่ 16 ม.ค.2568 ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับบริษัท COFCO Biotechnology Co.,Ltd หน่วยงานนำเข้ายักษ์ใหญ่ด้านการค้าสินค้าเกษตรของจีน อีก 5.4 ล้านตัน มูลค่า 3,489 ล้านบาท รวม 9.8 แสนตัน มูลค่า 8,803 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังจากการลงนามซื้อขาย และการลงนาม MOU กำหนดให้มีการส่งมอบตั้งแต่เดือน ม.ค.2568 เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลัง และผลักดันให้ราคามันสำปะหลังในประเทศปรับตัวสูงขึ้น เพราะปริมาณซื้อดังกล่าว ทำให้มีความต้องการหัวมันสดประมาณ 2.98 ล้านตัน
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า แม้จะผ่านช่วงตรุษจีนไปแล้ว แต่ความต้องการซื้อมันสำปะหลังของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จจากการเร่งขยายตลาดส่งออกสินค้ามันสำปะหลังของกระทรวงพาณิชย์
และปัจจุบันตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยเฉพาะมันเส้น เป็นไปในทิศทางที่ดี ราคาส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเกิดการแข่งขันกันรับซื้อระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมเอทานอลกับกลุ่มอาหารสัตว์ของจีน
นอกจากนี้ ราคาข้าวโพดในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากความกังวลในเรื่องสงครามทางการค้าระลอกใหม่ (Trump 2.0) และการลดลงของปริมาณการเพาะปลูกข้าวโพดในแหล่งเพาะปลูกข้าวโพดสำคัญของโลก โดยเฉพาะ อาร์เจนตินา และบราซิล
จึงนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสินค้ามันสำปะหลังไทยในการขยายตลาดเข้าสู่อุตสาหกรรมและตลาดที่หลากหลาย ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังว่าจะมีตลาดที่ดีรองรับและสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เหมาะสมสอดคล้องกับกลไกตลาดโลกต่อไป