บทบาทของตลาดทุนไทยในการร่วมขับเคลื่อน แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
โดย ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เป็นรากฐานสำคัญที่สนับสนุนความยั่งยืนของระบบนิเวศและเศรษฐกิจของโลก กิจการต่างๆ ล้วนพึ่งพาธรรมชาติในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทาน[1] อย่างไรก็ดี การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของทรัพยากรและความเสี่ยงต่อธุรกิจในระยะยาว โดยงานวิจัยของ Stockholm Resilience Centre[2] ระบุว่า การสูญเสียความสมบูรณ์ของชีวมณฑล[3] (Loss of Biosphere Integrity) ได้เกินขีดความสามารถในการรองรับของโลกแล้ว ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือไม่สามารถหาทางแก้ไขให้กลับมาเป็นดังเดิมได้ อันจะสร้างความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลกในอนาคต
เพื่อรับมือกับวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หลายหน่วยงานทั่วโลกได้ดำเนินการสนับสนุนการอนุรักษ์และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM-GBF) ซึ่งจัดทำและรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) สมัยที่ 15 (COP 15) เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก หรือออกกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์ที่ปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป และกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสาธารณรัฐฝรั่งเศส เป็นต้น[4]
ประเทศไทยในฐานะภาคีของ CBD ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับประเทศ (National Biodiversity Strategies and Action Plans: NBSAPs) มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน NBSAPs เป็นฉบับที่ 5 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดทำ ซึ่งแผนดังกล่าวได้กำหนดเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (เป้าหมายระดับชาติฯ) เพื่อคุ้มครอง อนุรักษ์ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ไทยยังได้ลงนามใน NBSAP Accelerator Partnership[5] ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก เพื่อสนับสนุนการจัดทำและขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม NBSAPs ให้บรรลุตามเป้าประสงค์และเป้าหมายของ KM-GBF และวิสัยทัศน์ระดับโลกในการอยู่อย่างสอดคล้องและปรองดองกับธรรมชาติ (Living in harmony with nature) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ด้วย
สำหรับ NBSAPs ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566 – 2570) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างแผนเมื่อเดือนตุลาคม 2567 มีการกำหนดเป็นเป้าหมายระดับชาติฯ ที่จะต้องบรรลุภายใน พ.ศ. 2573 ได้แก่ (1) การมีพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครอง (OECMs) ของประเทศทั้งบนบกและในทะเลอย่างน้อยร้อยละ 30 (2) ดัชนีสถานภาพชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red List index) ไม่น้อยลงจากข้อมูลปีฐาน พ.ศ. 2568 (3) การมีมาตรการในการจัดการสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่รุกรานที่มีลำดับความสำคัญสูงอย่างน้อยร้อยละ 35 และ (4) สัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET50 ที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30[6]
เป้าหมายที่ 4 นี้เป็นเป้าหมายที่ตลาดทุนจะมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครอง อนุรักษ์ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 สามารถเปิดเผยข้อมูลที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพ หรือข้อมูลความเสี่ยง การพึ่งพา และผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงนโยบาย แผน กลยุทธ์ การบริหารความเสี่ยง และผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ การเปิดเผยดังกล่าวเป็นลักษณะสมัครใจ โดยสามารถอ้างอิงกรอบการรายงานตามแนวทางสากล เช่น The Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD) Framework[7] หรือ Global Reporting Initiative (GRI) 101: Biodiversity 2024 เป็นต้น เพื่อช่วยให้การรายงานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพมีมาตรฐาน โปร่งใส น่าเชื่อถือ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และมุ่งเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและเข้าใจถึงความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดกับภาคธุรกิจ โดยเตรียมจะเปิดการจัดอบรมสัมมนาให้แก่บุคลากรของบริษัทจดทะเบียน ตั้งแต่ระดับกรรมการและผู้บริหารที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและเป้าหมายของบริษัท ไปจนถึงระดับผู้ปฏิบัติ รวมทั้งเตรียมจัดทำคู่มือเพิ่มเติม เพื่อให้บริษัทมีความพร้อมในการดำเนินการด้านความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลโดยสมัครใจ และสนับสนุนบริษัทจดทะเบียนกลุ่ม SET50 ในการบรรลุเป้าหมายระดับชาติฯ ข้างต้น นอกจากนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างติดตามและศึกษามาตรฐานและแนวทางสากลที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ทั้งในด้านการระดมทุนและการเปิดเผยข้อมูล เพื่อเป็นเครื่องมือให้บริษัทจดทะเบียนและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้ได้ในอนาคต
เป้าหมายระดับชาติที่ส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 เป็นการดำเนินการในลักษณะของ “ความสมัครใจ” ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวไม่เพียงสนับสนุนเป้าหมายระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญที่บริษัทจะได้แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสีย อย่างไรก็ดี เนื่องจากบริบทของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกันทั้งในด้านการพึ่งพา ผลกระทบ ความเสี่ยง และโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น บริษัทควรพิจารณาว่าความหลากหลายทางชีวภาพมีสาระสำคัญ (Materiality) ต่อบริบทการดำเนินงานของตนในระดับใด รวมถึงควรมีแนวทางการบริหารจัดการ ปกป้องคุ้มครอง อนุรักษ์ หรือฟื้นฟู ความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทการดำเนินธุรกิจ โดยการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องนี้เป็นปลายทางสำคัญของกระบวนการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียสำหรับประกอบการตัดสินใจอย่างรอบด้าน
แม้ความหลากหลายทางชีวภาพอาจถูกมองว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในมิติ E (Environment) ของกรอบ ESG แต่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับการมี G (Governance) ที่เข้มแข็ง บริษัทควรกำหนดนโยบายและกลไกในการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ไปพร้อมๆ กับการมีความรับผิดชอบต่อสังคมและโลกใบนี้
[1] ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ บทความ “ความหลากหลายทางชีวภาพ โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ (ตอนที่ 1)”
[2] อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [A] และ [B]
[3] ชีวมณฑล (Biosphere) คือ ส่วนของพื้นผิวโลก (พื้นดิน/หิน/นํ้า) และบรรยากาศของโลกที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ประกอบด้วยระบบนิเวศ (Ecosystem) ต่างๆ ซึ่งมีกลุ่มสิ่งมีชีวิต (Community) และสิ่งมีชีวิต (Organism) ชนิดเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกัน เรียกว่า ประชากร (Population) คลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติม
[4] ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ บทความ “ความหลากหลายทางชีวภาพ โอกาสและความเสี่ยงของธุรกิจ (ตอนที่ 2)”
[5] อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ [C] และ [D]
[6] นอกจากเป้าหมายระดับชาติฯ แล้ว NBSAPs ฉบับที่ 5 ได้กำหนดให้ “สัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET50 ที่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจที่เชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยสมัครใจ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ภายในปี 2570” เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในเป้าหมายที่ 8 บูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพในนโยบาย แผน และการดำเนินงานของทุกภาคส่วนในทุกระดับ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ
[7] TNFD Recommendations เผยแพร่ในปี 2023 เพื่อเป็นแนวทางแนะนำการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก ได้แก่ การกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแล (governance) การผนวกเข้ากับกลยุทธ์องค์กร (strategy) การบริหารจัดการความเสี่ยง (risk management) และการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมาย (metrics and targets) คลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติม
1415