หมวดหมู่: พาณิชย์

5ดาวรุ่ง


กรมพัฒน์ วิเคราะห์ข้อมูลจดบริษัท พบ 5 ธุรกิจดาวรุ่ง 5 ธุรกิจถดถอยต้องปรับตัว

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์ธุรกิจ จากข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคล บวกปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ พบ 5 ธุรกิจดาวรุ่งที่มีแนวโน้มเติบโต 'กีฬาและการออกกำลังกาย-ท่องเที่ยวและความบันเทิง-ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน-อีคอมเมิร์ซ-การผลิตภาพยนตร์' และ 5 ธุรกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ต้องเร่งปรับตัว 'เหล็ก โลหะมีค่าและอัญมณี-ค้าส่งค้าปลีกแบบออฟไลน์-สื่อและประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์-แปรรูปสินค้าเกษตร-ตัวแทนและนายหน้า'แนะธุรกิจปรับตัว นำเทคโนโลยีมาใช้ ติดตามแนวโน้มการค้า

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้นำข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจเชิงลึกของปี 2567 ที่ปัจจุบันมียอดรวม 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ทั้งข้อมูลจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ ผลประกอบการ (กำไร-ขาดทุน) การเลิกประกอบกิจการ และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น แนวโน้มธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ กระแสความนิยม นโยบายภาครัฐ ดัชนีทางเศรษฐกิจ

สถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และการแข่งขันของธุรกิจ มาทำการวิเคราะห์ธุรกิจดาวรุ่งจำนวน 5 ธุรกิจ และธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอยและต้องเร่งปรับตัวอีก 5 ธุรกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการลงทุนหรือขยายธุรกิจ และรับทราบถึงภาพรวมธุรกิจไทยตลอดปีที่ผ่านมา

โดยธุรกิจดาวรุ่ง 5 ธุรกิจ ที่มีการจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น ดังนี้ 1.กลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย ได้แก่ ธุรกิจจำหน่ายเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา สถานฝึกสอนกีฬา และธุรกิจจัดการแข่งขันกีฬาได้รับประโยชน์โดยตรงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและหันมาออกกำลังกายมากขึ้น โดยในช่วง 11 เดือนปี 2567 ตั้งใหม่ 732 ราย เพิ่มขึ้น 36.31% ทุนจดทะเบียนมูลค่า 1,751.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.77% ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจย่อยที่เติบโตได้ดี คือ ธุรกิจด้านสถานที่ออกกำลังกายและสอนออกกำลังกายที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 27% และกลุ่มธุรกิจกีฬาและการออกกำลังกาย มีรายได้รวม 93,397.82 ล้านบาท

         2.กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวและความบันเทิง ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจความบันเทิงและการแสดงโชว์ สืบเนื่องจากการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของโรงแรมที่พัก สปา ร้านอาหาร ขณะเดียวกัน ธุรกิจความบันเทิง การแสดงโชว์ ก็มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 1,976 ราย เพิ่มขึ้น 31.82% ทุนจดทะเบียน 6,427.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น % และปี 2566 กลุ่มธุรกิจมีรายได้รวม 359,670.04 ล้านบาท

3.กลุ่มธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ธุรกิจแบตเตอรี่ ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจผลิตตัวถังยานยนต์ ซึ่งถือเป็นปีทอง เพราะรัฐบาลมีนโยบายผลักดันมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งการลดภาษี และการสนับสนุนการผลิต

ปัจจุบันมีผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตจำนวน 7 แบรนด์ผู้ผลิต ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตในธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 1,033 ราย เพิ่มขึ้น 21.53% ทั้งนี้ เฉพาะกลุ่มธุรกิจย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นกว่า 61% และทั้งกลุ่มมีรายได้รวมกว่า 3.6 ล้านล้านบาท

4.กลุ่มธุรกิจ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจแพลตฟอร์ม e-commerce ธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้า ธุรกิจกล่องบรรจุพัสดุ สอดคล้องพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่เติบโต เช่น ธุรกิจการผลิตกล่องกระดาษ ธุรกิจคลังสินค้าและขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 2,283 ราย เพิ่มขึ้น 19.03% ทุนจดทะเบียน 3,979.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.42% และทั้งกลุ่มมีรายได้รวม 444,101.69 ล้านบาท

5.กลุ่มธุรกิจการผลิตภาพยนตร์ ได้แก่ ธุรกิจการผลิตภาพยนต์ วิดีทัศน์ รายการโทรทัศน์ และการตัดต่อภาพและเสียง รัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมบันเทิงและภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งการส่งเสริมตลาด พัฒนา การจับคู่ธุรกิจ และนำเสนอกับผู้ซื้อลิขสิทธิ์ทั่วโลก เช่น จัดตั้งศูนย์บริหารเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) การสอดแทรกวัฒนธรรมการท่องเที่ยว อาหารลงไปในเนื้อหาภาพยนตร์ และผลักดันพื้นที่ต่าง ๆ สู่การเป็นศูนย์กลางเมืองถ่ายภาพยนตร์ระดับโลก โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 242 ราย เพิ่มขึ้น 10% ทุนจดทะเบียน 630.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 116.92 และทั้งกลุ่มมีรายได้รวม 43,122.90 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ต้องเร่งปรับตัว 5 ธุรกิจ ดังนี้ 1.ธุรกิจการผลิตเหล็ก โลหะมีค่า และอัญมณี ได้แก่ ธุรกิจผลิตเหล็กและเหล็กกล้า ขั้นต้น ขั้นกลาง เหล็กแผ่น ธุรกิจผลิตโลหะมีค่า ธุรกิจผลิตโลหะที่เป็นโครงสร้างของการก่อสร้างอาคาร ธุรกิจผลิตเครื่องประดับ การเจียระไนเพชรพลอย เป็นต้น

เพราะถูกเหล็กต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาด และการค้าอัญมณีลดลง จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 306 ราย ลดลง 5.56% ทุนจดทะเบียน 2,492.42 ล้านบาท ลดลง 2.85% และทั้งกลุ่มมีรายได้รวม 1.87 ล้านล้านบาท

2.ธุรกิจร้านค้าส่งค้าปลีกแบบออฟไลน์ (ร้านค้าโชห่วย) ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกสินค้าอื่น ๆ ในร้านค้าทั่วไป ได้รับผลกระทบจากการค้าออนไลน์ที่ผู้บริโภคนิยมไปใช้มากขึ้น และแพลตฟอร์มออนไลน์ทำธุรกิจด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 1,466 ราย ลดลง 1.21% ทุนจดทะเบียน 2,004.79 ล้านบาท ลดลง 0.22% และทั้งกลุ่มมีรายได้ 3.76 แสนล้านบาท

3.ธุรกิจสื่อและการประชาสัมพันธ์แบบออฟไลน์ ได้แก่ ธุรกิจพิมพ์หนังสือพิมพ์และวารสาร ธุรกิจจัดพิมพ์จำหน่ายหรือเผยแพร่โบรชัวร์ใบปลิวและสิ่งพิมพ์อื่นๆ ธุรกิจกิจกรรมเผยแพร่ภาพยนตร์ (จำหน่ายฟิล์มภาพยนตร์ให้แก่โรงภาพยนตร์ เครือข่ายโทรทัศน์) เป็นต้น เพราะถูกแทนที่ด้วยสื่อออนไลน์ ที่มีความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและวัดผลการโฆษณาได้ดีกว่า โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 13 ราย ลดลง 56.67% ทุนจดทะเบียน 10.40 ล้านบาท ลดลง 76.68% และทั้งกลุ่มมีรายได้อยู่ที่ 8.15 พันล้านบาท 

4.ธุรกิจแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ได้แก่ ธุรกิจแปรรูปและการถนอมผลไม้และผักด้วยวิธีอื่นๆ ธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำด้วยการอบแห้ง การรมควัน การทำเค็ม การหมักในน้ำเกลือ หรือน้ำส้มสายชูธุรกิจการผลิตเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์ปีกด้วยการ อบแห้ง การทำเค็มหรือการรมควัน ธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร เพราะได้รับผลกระทบจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ผลผลิตลดลง มีการใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 123 ราย ลดลง 24.54% ทุนจดทะเบียน 311.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.87% และทั้งกลุ่มมีรายได้ 5.71 หมื่นล้านบาท

         5.ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า ได้แก่ ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและตัวแทนออก ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้า ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธุรกิจกิจกรรมของตัวแทนและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ธุรกิจตัวแทนและนายหน้า เพราะการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ กำลังซื้อผู้บริโภคลด การเพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ทำให้ติดต่อกันได้โดยตรง โดย 11 เดือน ตั้งใหม่ 2,037 ราย ลดลง 14.91% ทุนจดทะเบียน 5,865.61 ล้านบาท ลดลง 52.81% และทั้งกลุ่มมีรายได้ 2.63 แสนล้านบาท 

“กรมขอแนะนำให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต การบริการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจและเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกันในลักษณะการช่วยเหลือเกื้อกูล นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง มีการใช้ Data เป็นตัวช่วยตัดสินใจทางธุรกิจ

และปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องติดตามข่าวสารและแนวโน้มการประกอบธุรกิจทั้งของประเทศไทยและทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและรวดเร็ว หากผู้ประกอบการที่รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจและสามารถปรับตัวได้ทัน จะช่วยให้สามารถรับมือและนำพาธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นใจและธุรกิจมีความมั่นคง”นางอรมนกล่าว

 

Click Donate Support Web 

MTI 720x100

Banner GPF720x100 PXTOA 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

CKPower 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!