กะทิไทย โดนใจต่างชาติ ส่งออกขายแล้ว 131 ประเทศทั่วโลก มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้าน
สนค.เผย'กะทิไทย' สินค้าดาวรุ่งตัวใหม่ มีแนวโน้มเติบโตสูง ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารโลก ล่าสุดสามารถส่งออกขายได้ 131 ประเทศทั่วโลก มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท กะทิสำเร็จรูปมีสัดส่วนสูงสุด 93.13% ส่วนกะทิสำเร็จรูปอินทรีย์ แม้จะยังส่งออกน้อย แต่เป็นสินค้าที่น่าจับตา
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูป พบว่า สินค้ากะทิของไทย เป็นสินค้าที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง เป็นอีกหนึ่งสินค้าดาวรุ่งของไทย โดยไทยเป็นผู้ส่งออกกะทิรายสำคัญของโลก ปัจจุบันสามารถส่งออกไปจำหน่ายได้ประมาณ 131 ประเทศทั่วโลก แต่เนื่องจากไม่มีพิกัดศุลกากรระดับสากลสำหรับสินค้ากะทิ ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลการค้ากะทิของโลกได้ชัดเจน
ทั้งนี้ ในปี 2566 ไทยส่งออกกะทิมูลค่า 353.54 ล้านเหรียญสหรัฐ (12,208 ล้านบาท) และในช่วง 10 เดือนของปี 2567 (ม.ค.–ต.ค.) ไทยส่งออกมูลค่า 341.11 ล้านเหรียญสหรัฐ (12,064 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 16.85% ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกกะทิสำเร็จรูป สัดส่วนถึง 93.13% มีมูลค่า 326.55 ล้านเหรียญสหรัฐ (11,277 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 42.26% และในช่วง 10 เดือน ส่งออกมูลค่า 317.68 ล้านเหรียญสหรัฐ (11,235 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 18.12%
ส่วนกะทิสำเร็จรูปอินทรีย์ แม้ยังมีสัดส่วนการส่งออกน้อย แต่เป็นสินค้าที่น่าจับตามอง โดยปี 2566 ส่งออกมูลค่า4.78 ล้านเหรียญสหรัฐ (165 ล้านบาท) ลดลง 20.07% และในช่วง 10 เดือนปี 2567 ส่งออกมูลค่า 5.35 ล้านเหรียญสหรัฐ (189 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 36.83% โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ สัดส่วน 70.50% เนเธอร์แลนด์ 10.43% และสวิตเซอร์แลนด์ 6.21% มีสัดส่วน 1.57% ของมูลค่าการส่งออกกะทิทั้งหมดของไทย
สำหรับ กะทิอื่นๆ ที่ส่งออก เช่น กะทิผง ปี 2566 ส่งออกมูลค่า 8.78 ล้านเหรียญสหรัฐ (303 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 26.33% และในช่วง 10 เดือนของปี 2567 ส่งออกมูลค่า 7.58 ล้านเหรียญสหรัฐ (267 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 0.93% มีสัดส่วน 2.22% กะทิแช่แข็ง ปี 2566 ส่งออกมูลค่า 1.75 ล้านเหรียญสหรัฐ (60.42 ล้านบาท) ลดลง 98.63%
และในช่วง 10 เดือนของปี 2567 ส่งออกมูลค่า 0.45 ล้านเหรียญสหรัฐ (16.09 ล้านบาท) ลดลง 72.56% มีสัดส่วน 0.13% ของมูลค่าการส่งออกกะทิทั้งหมดของไทย และกะทิอื่น ๆ ปี 2566 ส่งออกมูลค่า 11.68 ล้านเหรียญสหรัฐ (403 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.51% และในช่วง 10 เดือนของปี 2567 ส่งออกมูลค่า 10.06 ล้านเหรียญสหรัฐ (357 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1.51% มีสัดส่วน 2.95% ของมูลค่าการส่งออกกะทิทั้งหมดของไทย
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกกะทิเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก โดยมีข้อมูลจาก The Business Research Company ระบุว่า ตลาดอาหารและเครื่องดื่มโลก ในปี 2567 มีอัตราการเติบโต 6.4% และคาดว่าปี 2571 จะมีอัตราการเติบโต 5.9% และกะทิยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ หากบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม อาทิ กรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง (MCTs) ช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงาน และกรดลอริก (Lauric Acid) ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันและให้พลังงานแก่ร่างกาย อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์จากพืชที่ไม่มีกลูโคสหรือแล็กโทส จึงเหมาะสำหรับการใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์จากนมบางชนิด
ปัจจุบัน ในปี 2566 ไทยมีผลผลิตมะพร้าว 0.94 ล้านตัน มีความต้องการใช้ประมาณ 1.14 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.35% โดยแบ่งเป็นการบริโภคในประเทศ 38% และการใช้เพื่อส่งออก 62% โดยที่ผ่านมา ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมการปลูกและผลิตมะพร้าวให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับ อาทิ การปลูกมะพร้าวพันธุ์ใหม่ที่มีต้นเตี้ยทดแทนสวนมะพร้าวเดิม ทำให้เก็บเกี่ยวง่ายและมีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนานกว่า รวมถึงมีโครงการนำร่อง GAP-Monkey Free Plus (GAP-MFP) เพื่อรับรองแปลงผลิตมะพร้าวปลอดภัยและการเก็บมะพร้าวที่ไม่ได้ใช้ลิง
ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรขอรับมาตรฐานดังกล่าว ควบคู่ไปกับการพัฒนาเครื่องมือเก็บมะพร้าว ซึ่งหากทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตมะพร้าว ตั้งแต่การปลูก การเก็บ และการแปรรูป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดรับกับความต้องการของประเทศคู่ค้า รวมทั้งเพิ่มเติมประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม และการมีสวัสดิการแรงงานที่ดี ก็จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและผลักดันให้ไทยคว้าโอกาสการส่งออกไปยังตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น