ข้อเสนอการปรับปรุงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa : LTR Visa)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (Long-Term Resident Visa : LTR Visa) (มาตรการ LTR Visa)
2. เห็นชอบการปรับปรุงคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการ LTR Visa
3. เห็นชอบการปรับปรุงมาตรการการตรวจลงตราเพื่อคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ (SMART Visa) (มาตรการ SMART Visa) เพื่อให้คงเหลือเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (SMART - S) กรณีจัดตั้งวิสาหกิจเริ่มต้นในประเทศไทยแล้ว
4. มอบหมายให้ สกท. กระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงแก้ไขประกาศ คำสั่ง หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการ LTR Visa และมาตรการ SMART Visa ต่อไป
5. มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน (รง.) พิจารณาเร่งรัดการดำเนินการปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกเงื่อนไขทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาทต่อการจ้างงานชาวต่างชาติผู้ถือ LTR Visa ต่อไป
6. มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พิจารณาดำเนินนโยบายและมาตรการระดับประเทศเพื่อพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศให้แก่บุคลากรในประเทศ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) นำเสนอ คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (มาตรการ LTR Visa) และปัญหา อุปสรรค ในการดำเนินการมาตรการดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการ LTR Visa และ Smart Visa ซึ่งคณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (คสดช.) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 และครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567เห็นชอบด้วยแล้ว โดยการขอปรับปรุงคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษดังกล่าว มีประเด็นสำคัญ เช่น
1.1 LTR Visa เช่น
ประเภท |
ปัญหาอุปสรรค |
แนวทางแก้ไข |
ประโยชน์ที่ได้รับ |
|||
กลุ่มผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย |
หลักเกณฑ์ด้านรายได้ของนายจ้างในต่างประเทศที่กำหนดไว้ว่าต้องมีรายได้รวมกันในระยะเวลา 3 ปี ไม่น้อยกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเกินความจำเป็น และไม่สามารถสะท้อนความสามารถของคนต่างชาติและความมั่นคงในการจ้างงานได้ |
ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านรายได้ของนายจ้างในต่างประเทศเป็นรายได้รวมกันในระยะเวลา 3 ปี ไม่น้อยกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ |
ขยายโอกาสในการดึงดูดบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งไทยขาดแคลนให้สามารถพำนักระยะยาวได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสที่บุคลากรดังกล่าวพิจารณาทำงานให้แก่บริษัทในประเทศในอนาคตต่อไป |
|||
ประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง |
หลักเกณฑ์ LTR Visa ประเภทประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูงกำหนดให้ผู้สมัครต้องมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี ก่อนวันยื่นคำขอ อย่างไรก็ตาม มีชาวต่างชาติผู้สมัคร LTR Visa จำนวนหนึ่ง มีการลงทุนในไทยเกินเกณฑ์ที่กำหนดและมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง แต่ไม่ผ่านการรับรองคุณสมบัติด้านรายได้ส่วนบุคคลซึ่งเป็นเงื่อนไขรอง |
ยกเลิกหลักเกณฑ์ด้านรายได้ของผู้สมัคร LTR Visa ประเภทประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูงที่กำหนดให้ผู้สมัครต้องมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี ก่อนวันยื่นคำขอ |
ลดเงื่อนไขที่ไม่จำเป็นและให้ ความสำคัญกับเป้าประสงค์หลักในการดึงดูดประเภทประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูงเพื่อขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจ |
|||
ผู้ติดตาม |
สิทธิในการติดตามผู้ถือ LTR Visa ประเภทผู้ติดตาม มีข้อจำกัดในเรื่องจำนวนผู้ติดตาม และไม่ครอบคลุมถึงบิดา มารดาหรือผู้อยู่ในอุปการะตามกฎหมาย และจำกัดไว้ไม่เกิน 4 คน ซึ่งไม่ทัดเทียมกับวีซ่าหรือการตรวจลงตราประเภทอื่นของไทยในปัจจุบันที่มีการให้สิทธิในการติดตามสูงกว่าและไม่จำกัดจำนวนผู้ติดตาม |
ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับการติดตามให้ครอบคลุมคู่สมรส หรือบิดามารดา หรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของผู้ถือ LTR Visa หลัก โดยไม่จำกัดจำนวนติดตาม |
เพิ่มโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการนำเงินเข้ามาใช้จ่ายภายในประเทศของผู้ถือ LTR Visa และเพื่อเพิ่มศักยภาพ LTR Visa ในการดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย |
1.2 Smart Visa
เนื่องจาก LTR Visa และ Smart Visa บางประเภทมีกลุ่มเป้าหมายและหลักเกณฑ์ใกล้เคียงกัน สร้างความสับสนให้แก่ชาวต่างชาติ จึงควรมีการยกเลิกประเภท Smart Visa ที่ซ้ำซ้อนกับ LTR Visa และวีซ่าประเภทอื่นๆ เนื่องจากขอบเขตประเภทและคุณสมบัติของ LTR Visa เปิดกว้างและสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่า Smart Visa ดังนั้น คณะกรรมการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย (คสดช.) จึงเห็นชอบให้ผลักดันให้ LTR Visa เป็นวีซ่าหลักแก่ชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง โดยเสนอให้พิจารณายกเลิก Smart Visa โดยให้คงไว้เฉพาะ SMART-S สำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) กรณีจัดตั้งวิสาหกิจเริ่มต้นแล้ว (ประเภท 2 ปี) เพราะยังไม่มีการตรวจลงตราประเภทอื่นๆ ที่มีสิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกันและมีเงื่อนไขผ่อนคลายเหมาะสมกับลักษณะของผู้ประกอบการธุรกิจ Startup โดยสามารถส่งเสริมระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Ecosystem) ของประเทศได้ต่อไป
2. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วเห็นควรให้ความเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 13 มกราคม 2568
1241