พาณิชย์ จับมือเอกชน ใช้มันเส้นเลี้ยงสัตว์-ทำอาหารสัตว์ ดันราคาให้เกษตรกร
กรมการค้าภายในผนึกกำลังหอการค้าไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ใช้มาตรการเร่งด่วนดันราคามันสำปะหลัง ผลักดันเพิ่มการใช้มันเส้นในการเลี้ยงปศุสัตว์และทำอาหารสัตว์ ตั้งเป้า 1 ล้านตัน หรือคิดเป็นหัวมันสด 2.5 ล้านตัน
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการแถลงข่าวเรื่อง “การส่งเสริมการใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์” ว่า กรมได้ดำเนินการตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ดูแลสถานการณ์ผลผลิตและราคามันสำปะหลังที่กำลังจะออกสู่ตลาด
จึงได้ร่วมมือกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ผลักดันให้ภาคปศุสัตว์และผู้ผลิตอาหารสัตว์ใช้มันเส้นในการเลี้ยงสัตว์และทำอาหารสัตว์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนเพิ่มเติมจากมาตรการหลัก ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้ความเห็นชอบไว้จำนวน 4 มาตรการ
ทั้งนี้ ในการผลักดันให้ผู้เลี้ยงปศุสัตว์และผู้ผลิตอาหารสัตว์ใช้มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นนั้น กรมจะร่วมมือกับสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการคัดเลือกสมาชิกลานมันผู้ผลิตมันเส้นสะอาดกว่า 40 รายทั่วประเทศ ที่สามารถผลิตมันเส้นให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ โดยกรม และสมาคมฯ จะร่วมกันดูแลการซื้อขาย ทั้งเรื่องคุณภาพ และราคา ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้สถานการณ์มันสำปะหลังในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น
ส่วน 4 มาตรการหลัก ที่จะใช้ดูแลมันสำปะหลัง ได้แก่ 1.ชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อก โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ลานมัน/โรงแป้ง/โรงงานเอทานอล ที่รับชื้อมันสำปะหลังและแปรรูปเก็บสต็อกมันเส้น/แป้งมัน อัตรา 3% ต่อปี 2.สินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลคำเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื้อให้สถาบันเกษตรกรใช้เป็นเงินทุนหนุนเวียนรับซื้อมันสำปะหลัง สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย 1% ต่อปี รัฐบาลสนับสนุน 3.50% 3.เพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกให้เกษตรกร
โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรใช้เป็นเงินทุนในการพัฒนาการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น ระบบน้ำหยด รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี และ 4.ยกระดับศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง (เครื่องสับมัน) เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตให้กลุ่มเกษตรกรเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เป้าหมาย 650 เครื่อง
นอกจากนี้ กรมยังได้เตรียมโครงการชะลอการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง เพื่อให้เกษตรกรเก็บมันไว้ในดินและให้เชื้อแป้งเพิ่มขึ้น และลดปริมาณการเข้าสู่ตลาดของหัวมันสดด้วย
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ประสานสมาชิกหอการค้าไทย หอการค้าจังหวัด และสมาคมการค้าที่เป็นสมาชิกหอการค้าไทย ในการจัดช่องทางระบายสินค้ามันเส้นที่มีคุณภาพ สะอาด มีมาตรฐาน ไปยังกลุ่มโรงงานหรืออุตสาหกรรมแปรรูป โดยเฉพาะอาหารสัตว์ โดยได้รับข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ และภาคเอกชนที่ผลิตอาหารสัตว์ว่ามีความต้องการใช้มันเส้นในการผลิตอาหารสัตว์ กว่า 2.5 ล้านตันหัวมันสด หรือคิดเป็นมันเส้นประมาณ 1 ล้านตันมันเส้น
นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ กรรมการบริหารหอการค้าไทย และประธานคณะธุรกิจปศุสัตว์และแปรรูป กล่าวว่า ผู้ผลิตอาหารสัตว์และเลี้ยงสัตว์ในประเทศ มีความยินดีที่จะใช้มันเส้นเพิ่มขึ้นในสูตรอาหารสัตว์ เพราะมีความต้องการใช้วัตถุดิบในประเทศเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว จากการขาดแคลนวัตถุดิบหลายๆ ชนิด และเห็นว่ามันเส้นของไทยมีการพัฒนาขึ้นมาก ราคามันเส้นขณะนี้ สามารถใช้ในสูตรอาหารสัตว์ในสัดส่วนได้มากขึ้น แต่ต้องไม่มีการปนเปื้อนของกรวด ดิน ทราย
นายปัญญา บุญบันดาลฤทธิ์ นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า สมาคมฯ จะประสานและดูแลสมาชิกให้ผลิตมันเส้นสะอาดตรงกับความต้องการในการนำไปใช้ผลิตอาหารสัตว์ เพื่อให้ผู้ใช้ปลายทางได้ของดี มีคุณภาพ เพราะหากมีการใช้มันเส้นมากขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยดูดซับมันเส้นและช่วยเหลือเกษตรกรให้ระบายผลผลิตได้
ดร.ไพรัตน์ ศรีชนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า มันเส้นเป็นวัตถุดิบทางเลือกที่ดีสำหรับอาหารสัตว์ในปัจจุบัน และสามารถพัฒนาเป็นวัตถุดิบหลักได้ ซึ่งปัจจุบันไทยใช้มันเส้นในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ประมาณ 1.5 ล้านตัน สามารถขยายการใช้ได้ถึง 2.5 ล้านตัน หรือคิดเป็น 6.5 ล้านตันหัวมันสด ซึ่งเกษตรกรควรให้ความสำคัญกับคุณภาพทั้งด้านความสะอาด และเชื้อแป้งที่เหมาะสม