วว. จับมือพันธมิตร ร่วมผลักดันกิจกรรม CSR สร้างแรงบันดาลใจด้าน วทน. ให้แก่เยาวชน
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567 ดร.โศรดา วัลภา รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมผลักดันการจัดกิจกรรม CSR ร่วมกับคณะอาจารย์จากโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ฯ และโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลบึงคำพร้อย 1 (โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทราธรรม) ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรของ วว. ที่มุ่งพัฒนาทักษะและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ทั้งด้านพื้นฐานและขั้นสูง ณ วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี
โอกาสนี้ คณะผู้บริหารและนักวิจัย วว. เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย ดร.ปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผู้อำนวยการ สำนักสื่อสารองค์กร ดร.เรวดี มีสัตย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.) ดร.สาวิตรี ปราโมช ณ อยุธยา นักวิจัย ศนก. และผู้เกี่ยวข้อง
โดยมีประเด็นการประชุมเพื่อหารือการดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนปฏิบัติการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ซึ่งมุ่งเน้นการสนับสนุนให้เยาวชน ชุมชน และสังคม บูรณาการดำเนินกิจกรรมเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับ วว. ทั้งในภาคทฤษฎีและการเรียนรู้ในสถานที่ปฏิบัติงานจริง รวมทั้งการสร้างแรงบันดาลใจทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้กับเยาวชนของประเทศอย่างยั่งยืน
รองผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. จะนำร่องกิจกรรม CSR กับเครือข่ายพันธมิตรดังกล่าว ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ภายใต้โครงการพัฒนาการสร้างความตระหนักและพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์พื้นที่ระยะใกล้ วว. ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ดังนี้ 1) การผลิตเครื่องดื่มน้ำผลไม้อัดก๊าซ เป็นกระบวนการที่ผสมผสานน้ำผลไม้กับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อให้เกิดฟองอากาศ ซึ่งเป็นลักษณะของเครื่องดื่มอัดก๊าซที่ควบคุมอัตราการอัดก๊าซ เพื่อให้ได้ระดับความซ่า (Carbonation level) ที่เหมาะสม เป็นการทดแทนเครื่องดื่มน้ำอัดลม และส่งเสริมให้เยาวชนรับรู้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมต่อการบริโภค 2) โครงสร้างทางสัณฐานวิทยาของพืช การศึกษาลักษณะของส่วนต่างๆ ที่สามารถสังเกตได้จากภายนอกของพืช ซึ่งสะท้อนถึงการปรับตัวของพืชในการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย โครงสร้างทางสัณฐานวิทยาของพืชสามารถแบ่งออกเป็นส่วนสำคัญต่างๆ ที่มีหน้าที่และลักษณะเฉพาะ เช่น ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และเมล็ด และ 3) การผลิตจุลินทรีย์เพื่อใช้ในการเกษตร เช่น เชื้อแบคทีเรีย รา หรือจุลินทรีย์อื่นๆ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ป้องกันโรค ปรับปรุงคุณภาพของดิน รวมทั้งการใช้จุลินทรีย์ในกระบวนการเพาะเห็ด เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
“...แผนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในปี 2568 ของ วว. มุ่งเน้นการเป็นผู้นำในการสร้างองค์ความรู้ทาง วทน. ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเสริมสร้างการแก้ไขปัญหาของสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ดังนั้นกิจกรรม CSR ที่ วว. จะดำเนินการร่วมกับโรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์และโรงเรียนองค์การบริหารส่วนตำบลบึงคำพร้อยในระยะเวลาอันใกล้ จะเป็นโมเดลที่นำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจสายวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น...” ดร.โศรดา วัลภา กล่าวสรุป
12574