กรมสรรพากร เดินหน้าต่อ 'Easy E-Receipt 2.0' ลดหย่อนสูงสุด 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น เริ่ม 16 มกราคม 2568 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 อนุมัติหลักการมาตรการ'Easy E-Receipt 2.0' ซึ่งเป็นการขยายผลจากมาตรการเดิม'Easy e-Receipt'เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในประเทศในปี 2568 โดยให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล) หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า’กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรเห็นผลตอบรับที่ดีเยี่ยมจากมาตรการ "Easy E-Receipt’ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา จึงเดินหน้าสานต่อความสำเร็จนี้ เพื่อเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ออกมาตรการ 'Easy E-Receipt 2.0' ซึ่งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
1. ให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ได้สูงสุด 50,000 บาท ดังนี้
1.1 หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับ ค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) แบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน และ
1.2 หักลดหย่อนได้เพิ่มอีกตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ โดยต้องมี e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt เป็นหลักฐาน
(1) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
(2) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
(3) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
ทั้งนี้ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 1.1 จะเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ตามข้อ 1.2 ก็ได้
2. กรณีการจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้
(1) ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
(2) ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
(3) ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
(4) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
(5) ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
3. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการนี้ไม่รวมถึง
(1) ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
(2) ค่าซื้อยาสูบ
(3) ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
(4) ค่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์) และค่าซื้อเรือ
(5) ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
(6) ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ
(7) ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
(8) ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พัก โรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม 4. e-Tax Invoice และ e-Receipt ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า “มาตรการ 'Easy E-Receipt 2.0' จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจ
ในภาพรวมขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 70,000 ล้านบาท
ผู้เสียภาษีและร้านค้าสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.rd.go.th หรือ ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161
สำหรับ ร้านค้าที่ต้องการใช้ระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์
(e-Tax Invoice & e-Receipt) สามารถติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่ร้านค้าตั้งอยู่
องค์การและมูลนิธิตามมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุข จำนวน 27 แห่ง
(1) สภากาชาดไทย
(2) มูลนิธิศรีสวางควัฒน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์
อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
(3) มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
(4) มูลนิธิชัยพัฒนา
(5) ศิริราชมูลนิธิ
(6) มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
(7) มูลนิธิจุฬาภรณ์
(8) มูลนิธิโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศิริราช
(9) มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
(10) มูลนิธิโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
(11) มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี
(12) มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า
(13) มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ กองทัพเรือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
(14) มูลนิธโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(15) มูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา
(16) มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก
(17) มูลนิธิกาญจนบารมี
(18) มูลนิธิคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
(19) มูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์
(20) มูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ในพระสังฆราชูปถัมภ์
(21) มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
(22) มูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ
(23) มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
(24) มูลนิธิโรงพยาบาลเลิดสิน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
(25) มูลนิธิสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ
(26) มูลนิธิโรงพยาบาลหาดใหญ่
(27) มูลนิธิโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช