สนข.ผุดไอเดีย Web Application บริหารจัดการจราจร และการขนส่งในพื้นที่ EEC และจัดสัมมนาครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการศึกษาการพัฒนาระบบ ITS
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการจัดสัมมนาครั้งที่ 2 การศึกษาการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (Intelligent Transport System: ITS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรและการขนส่งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ระหว่างวันที่ 20 - 22 มกราคม 2568
โดยได้รับเกียรติจากนายประสิทธิ์ อินทโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายอดิเรก อุ่นโอสถ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และนายกัฬชัย เทพวรชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาฯ และมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการสัมมนาฯ
นายปัญญา ชูพานิช กล่าวว่า การจัดสัมมนาฯ ครั้งนี้ เป็นการจัดสัมมนาครั้งที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อนำเสนอผลการศึกษา แอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นในโครงการฯ รวมถึงโครงการ นำร่องแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ ร่างแผนพัฒนา
และร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะในพื้นที่กลุ่มจังหวัดดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้อง ส่วน Web Application ที่พัฒนาขึ้นในโครงการนั้นจัดทำเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการเดินทางและการขนส่งสินค้า
รวมทั้งแสดงสภาพการจราจรในพื้นที่กลุ่มจังหวัด EEC คือจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี เป็นการแสดงผลข้อมูลที่ได้จากการนำเข้าข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ GPS CCTV Bluetooth และ Microwave Radar ผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูล ก่อนนำมาวิเคราะห์ ประมวลผล และแสดงผลข้อมูลด้วยระบบวิเคราะห์ โดย Web Application ของโครงการฯ จะมีการแสดงผล 5 ส่วน คือ
1) สภาพการจราจร เป็นการแสดงสภาพการจราจรของช่วงถนนและทางแยกในพื้นที่กลุ่มจังหวัด EEC 2) จุดต้นทาง - จุดปลายทาง เป็นการแสดงปริมาณการเดินทางของรถบรรทุกที่เดินทางเข้า - ออกในพื้นที่กลุ่มจังหวัด EEC 3) จุดอันตราย/ช่วงถนนอันตรายเป็นการแสดงตำแหน่ง ช่วงถนนและความถี่ของการเกิดอุบัติเหตุ 4) การตรวจจับการกระทำผิด เป็นการแสดงตำแหน่ง และข้อมูลรถบรรทุกที่มีการกระทำผิดกฎจราจรในเส้นทางที่กฎหมายกำหนด และ 5) รายงานประจำเดือน เป็นการรายงานข้อมูลการจราจรประจำเดือนในภาพรวมของพื้นที่กลุ่มจังหวัด EEC และรายงานแยกรายจังหวัด
ทั้งนี้ ในการสัมมนาฯ ได้นำเสนอพื้นที่นำร่องของโครงการในกลุ่มจังหวัด EEC ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา - แยกพล ร.11 จังหวัดชลบุรี - แยกพนัสนิคม - แยกดอนหัวฬ่อ - แยกขึ้น - ลง M7 และจังหวัดระยอง - แยกมาบตาพุด ก่อนจะลงพื้นที่สำรวจข้อมูล และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการจราจรและการขนส่งต่อไป ในส่วนของร่างแผนพัฒนาและร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะในพื้นที่กลุ่มจังหวัด EEC
มีวิสัยทัศน์เพื่อให้ “การเดินทางและขนส่งด้วยระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพ สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน” โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาข้อมูลและสนับสนุนการใช้งานด้าน ITS และเพื่อผสานความร่วมมือบริหารจัดการ ITS
“ประโยชน์ของการศึกษาการพัฒนาระบบ ITS เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการจราจรและการขนส่งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง นั้น จะส่งผลให้พื้นที่ในกลุ่มจังหวัด EEC สามารถนำผลการศึกษาจากโครงการฯ ไปดำเนินการบริหารจัดการ วิเคราะห์ หรือตัดสินใจในการเดินทางในพื้นที่
เพื่อรองรับการขนส่งและจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2568 ก่อนจัดทำแผนปฏิบัติการฯ และแผนพัฒนาฯ นำเสนอกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป”นายปัญญา ชูพานิช กล่าว