ปี 67 ต่างชาติลงทุนไทย 954 ราย นำเงินเข้า 2.28 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยปี 2567 ต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทยจำนวน 954 ราย เพิ่ม 43% นำเงินเข้าลงทุน 228,106 ล้านบาท เพิ่ม 79% จ้างงานคนไทย 5,040 คน ลด 26% ญี่ปุ่นนำโด่ง ทั้งมีนักลงทุนเข้ามามากสุด และเงินลงทุนสูงสุด ตามด้วยสิงคโปร์ จีน สหรัฐฯ และฮ่องกง ส่วนในพื้นที่ EEC เข้ามาลงทุน 301 ราย เพิ่ม 124% เงินลงทุน 56,490 ล้านบาท เพิ่ม 46% ญี่ปุ่นนำ ตามด้วยจีนและฮ่องกง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 954 ราย เพิ่มขึ้น 43% เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 227 ราย
และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 727 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 228,106 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79% และจ้างงานคนไทย 5,040 คน ลดลง 26%
สำหรับ ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 254 ราย คิดเป็น 27% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 121,190 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ พัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น โดยในปี 2567 ญี่ปุ่น เป็นนักลงทุน ที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุด และยังมีมูลค่าการลงทุนสูงสุดด้วย
2.สิงคโปร์ 137 ราย คิดเป็น 14% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 22,485 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิคด้านต่างๆ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการขุดเจาะปิโตรเลียม ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
3.จีน 123 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 19,547 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ธุรกิจบริการทำเทคนิคด้านภาพสำหรับภาพยนตร์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
4.สหรัฐฯ 121 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 24,675 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจค้าปลีกสินค้า ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
5.ฮ่องกง 69 ราย คิดเป็น 7% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 15,281 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุน 301 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปี 2567 เพิ่มขึ้น 124% มูลค่าการลงทุน 56,490 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 46% โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 103 ราย ลงทุน 20,593 ล้านบาท จีน 72 ราย ลงทุน 12,107 ล้านบาท ฮ่องกง 20 ราย ลงทุน 5,698 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 106 ราย ลงทุน 18,092 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจที่ลงทุนในพื้นที่ EEC เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม (อุตสาหกรรมยานยนต์) ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน ธุรกิจบริการชุบแข็ง และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น