‘พลังบ้านปู ฟื้นฟูทะเลไทย’ โมเดลจัดการขยะ ฟื้นฟูแม่น้ำ ‘บางปะกง’
“เศรษฐกิจไทย” พึ่งพาทะเลในด้านประมงและการท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน แต่กลับติดอันดับต้นๆ ว่าเป็นประเทศที่มีขยะไหลลงทะเลมากที่สุด โดยข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า ในปี 2565 ขยะจากแม่น้ำสายหลัก เช่น บางปะกงและเจ้าพระยา ไหลลงสู่อ่าวไทยกว่า 1,000 ตัน และเคยสูงถึง 2,500 ตันในปี 2561
ในปี 2565 บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่าย “โครงการความร่วมมือในการจัดการขยะทะเลโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ” นำโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และบริษัทเอกชน โดยต่อมาได้ริเริ่มโครงการ “พลังบ้านปู ฟื้นฟูทะเลไทย” เพื่อดำเนินงานภายใต้โครงการความร่วมมือฯ และสนับสนุนแผนแม่บทการจัดการขยะทะเลระดับชาติ มีพื้นที่ดำเนินงานที่ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง ประกอบด้วย 3 อำเภอ 14 ตำบล ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง ในจังหวัดฉะเชิงเทรา มีระยะเวลาดำเนินงานระหว่างปี 2566 ถึงปี 2569
● ปัญหาขยะสะสมในพื้นที่กว่า 6 พันตัน/ปี
นายนริศ นิลประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เผยว่า ที่ผ่านมาปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่เฉลี่ย 3,000-6,000 ตันต่อปี หรือประมาณ 500 ตันต่อเดือน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ วิถีชีวิตชุมชน รวมถึงทำให้คลองสาขาแม่น้ำบางปะกงเน่าเสีย มีค่าความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี หรือ BOD (Biochemical Oxygen Demand:) สูง แม้จะมีการรณรงค์คัดแยกขยะและจัดตั้งธนาคารขยะ แต่ยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคลและความร่วมมือที่ยังไม่ครอบคลุมทุกส่วน ส่งผลให้ยังเกิดปัญหาขยะและน้ำเน่าเสียเรื้อรัง
● ความร่วมมือ “พลังบ้านปู ฟื้นฟูทะเลไทย” ลดขยะครัวเรือนเทศบาลตำบลท่าข้าม 40%
ปี 2565 ตำบลท่าข้ามได้ร่วมทำงานกับบ้านปู ในโครงการ “พลังบ้านปู ฟื้นฟูทะเลไทย” โดยบ้านปูได้นำโมเดลการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมเข้ามาปรับใช้ในพื้นที่ สร้างเครือข่ายชุมชนที่แข็งแกร่ง และมีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่ฉะเชิงเทราให้เป็นต้นแบบการลดปริมาณขยะทะเล ผ่าน โมเดลจัดการขยะทะเล 6 มิติ ดังนี้
การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง: หัวใจสำคัญคือการทำงานร่วมกันระหว่างบ้านปูกับผู้นำในพื้นที่ การสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล และ อบต. รวมไปถึงผู้นำชุมชน อาสาสมัคร และชาวบ้านในพื้นที่ ที่ให้ความร่วมมือตั้งแต่เริ่มวางแผน การดำเนินงาน ติดตาม ประเมินผลเพื่อเพิ่มศักยภาพและขยายขอบเขตการจัดการขยะ ซึ่งบ้านปูทำหน้าที่ประสานงาน ให้คำปรึกษาและสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็น
การจัดการขยะต้นทาง: ส่งเสริมความรู้ ด้านการคัดแยกขยะในครัวเรือนให้กับชุมชน และวิธี ‘เปลี่ยนขยะเป็นเงิน’ ผ่านการจัดตั้งโครงการธนาคารขยะ ปัจจุบันสามารถลดปริมาณขยะและโดยนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้แล้วกว่า 4.5 ตัน
การเก็บกู้ขยะในแหล่งน้ำและการจัดการ: ติดตั้งอุปกรณ์ดักขยะ การเก็บกู้ขยะ รวมถึงจัดการขยะหลังเก็บกู้ ปัจจุบันบ้านปูได้ติดตั้งทุ่นดักขยะใน 5 คลองสาขาของแม่น้ำบางปะกงไปแล้ว 7 จุด ได้แก่ คลองลัด คลองตาสาย เทศบาลตำบลท่าข้าม คลองบางพระ คลองนาคำแพน อบต.บางพระ คลองใหม่ศรีเจริญ คลองบางพระ อบต.โสธร รวมถึงจัดกิจกรรมให้พนักงานบ้านปูจิตอาสาไปช่วยเก็บขยะริมแม่น้ำบางปะกงร่วมกับชุมชนในพื้นที่ โครงการฯ สามารถเก็บกู้ขยะได้รวม 5.7 ตัน (4 ตันจากทุ่นดักขยะ และ 1.7 ตันจากการเก็บขยะริมแม่น้ำบางปะกง)
การสร้างความตระหนัก: บ้านปูจัดศึกษาดูงานให้กับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน จาก 6 ตำบล ของอำเภอบางปะกง และ อำเภอเมือง ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโมเดลการจัดการขยะ ไปเรียนรู้วิธีจัดการขยะทะเลต้นแบบที่จังหวัดระยอง และจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเลและการจัดการขยะอย่างถูกวิธีกับชุมชน เช่น กิจกรรม “การจัดการขยะครัวเรือนและขยะทะเล” กับผู้นำชุมชน ต.ท่าสะอ้าน โดยความร่วมมือกับ อบต. ท่าสะอ้านและศูนย์วิจัยฯ ทช. ทสจ.ฉะเชิงเทรา และกิจกรรม “การเดินทางของขยะทะเล” กับนักเรียนโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เพื่อปลูกฝังแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่รุ่นเยาว์
การบริหารจัดการข้อมูล: การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณและประเภทของขยะที่ได้จากธนาคารขยะ และปริมาณขยะที่เก็บกู้ได้จากทุ่นดักขยะ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผนและพัฒนาการทำงานของโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีแผนพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อให้ชุมชนสามารถแจ้งปัญหาขยะและติดตามข้อมูลต่างๆ ในพื้นที่ได้
การสร้างเครือข่าย: เชื่อมโยงทุกความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนและนำองค์ความรู้มาปรับใช้ ซึ่งเป็นการขยายเครือข่ายระหว่างคณะทำงานในแต่ละพื้นที่ ที่มุ่งมั่นสร้างพลังในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ผลจากการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้ง 6 ทุกมิติ ทำให้พื้นที่ปากแม่น้ำบางปะกง ในส่วนบริเวณตำบลท่าข้ามเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลชัดเจน โดยปริมาณขยะลดลง 40% จาก 500 ตันต่อเดือน เหลือประมาณ 300 ตันต่อเดือนในปี 2566
● พลังบ้านปู กับแผนการจัดการขยะทะเล ขยายการมีส่วนร่วม เพิ่มนวัตกรรมตอบโจทย์บริบทในพื้นที่
ด้าน นายสุทธิโรจน์ มงคลสินพงศ์ คณะทำงานโครงการพลังบ้านปู ฟื้นฟูทะเลไทย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผลสำเร็จของโครงการตลอด 2 ปีที่ผ่านมาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดความร่วมมือของผู้นำส่วนท้องถิ่นเจ้าหน้าที่และชุมชนในพื้นที่ ที่จริงจังกับการจัดการขยะ ในส่วนของบ้านปู เรามีแผนที่จะขยายโมเดลจัดการขยะให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายทั้ง 3 อำเภอ 14 ตำบลริมแม่น้ำบางปะกง ในจังหวัดฉะเชิงเทรา และนำนวัตกรรมที่เหมาะกับพื้นที่มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะ เช่น การติดตั้งนวัตกรรมกล่องดักขยะ หรือ Trash Sweeper สามารถวางในลำคลองและแม่น้ำที่มีเรือสัญจรผ่านที่ไม่สามารถวางทุ่นตาข่ายได้ และสามารถเข้าไปเก็บกู้ขยะได้อย่างสะดวก เพื่อสกัดกั้นขยะไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล ซึ่งคาดว่าจะนำลงใช้งานจริงได้ในปี 2568”
“ต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ให้ความสำคัญและลงมือทำจริงในพื้นที่ของเรา การเข้ามาของบ้านปูไม่เพียงช่วยสนับสนุนเครื่องมือในการจัดการขยะ แต่ยังมอบองค์ความรู้ให้คนในชุมชนได้ ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบที่ดี โดยทางชุมชนเองก็ยินดีที่จะเรียนรู้และนำเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพื่อการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นายนริศ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการบ้านปูรวมพลัง ฟื้นฟูทะเลไทย ได้ทางเฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/Banpuofficialth
2430