CPAC อัปเลเวลความกรีน เปิดตัวรถโม่พลังงานไฟฟ้าแห่งแรกในภาคเหนือ ‘CPAC EV Mixer Truck’ ต้นแบบการขนส่ง Green Logistics
CPAC ยกระดับความกรีน เปิดตัวรถโม่พลังงานไฟฟ้า “CPAC EV Mixer Truck” ในจังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นรายแรกของภาคเหนือ ต้นแบบการขนส่ง Green Logistics สะท้อนความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำวิสัยทัศน์ The 1st Mover Low Carbon Concrete Business สู่ความยั่งยืน พร้อมเดินหน้าเตรียมความพร้อมการก่อสร้างที่ปลอดมลพิษ ช่วยลดวิกฤตฝุ่นควัน PM 2.5 เผยการใช้รถโม่พลังงานไฟฟ้า 1 คัน สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลงได้ถึง 212,736 KgCO2e เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 22,400 ต้น
นายถิรวัฒน์ พูนกาญจนะโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด หรือ CPAC เปิดเผยว่า CPAC ในฐานะผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จและคอนกรีตสำเร็จรูประดับแถวหน้าของประเทศ มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมกรีนและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการก่อสร้างในภาคเหนือที่ต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ เช่น วิกฤตฝุ่นควัน PM 2.5 อย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูหนาว ล่าสุด CPAC ได้นำรถโม่พลังงานไฟฟ้า “CPAC EV Mixer Truck” ซึ่งนับเป็นต้นแบบการขนส่ง Green Logistics เข้ามาใช้ในการจัดส่งคอนกรีต
“นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในตลอดระยะเวลาการทำงานที่บริษัทฯ จะต้องหาวิธีการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดโดยมุ่งเน้นการก่อสร้างสีเขียว ตามแนวทาง Inclusive Green Growth ซึ่งรถโม่พลังงานไฟฟ้า CPAC EV Mixer Truck ถือเป็นแรงกระตุ้นในการส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ประมาณ 50% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซล หรือประมาณ 237,600 บาท/คัน/ปี (คำนวณจากฐานค่าน้ำมัน 33 บาท/ลิตร) ซึ่งรถโม่พลังงานไฟฟ้านี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการขนส่งคอนกรีตทั้งในเขตเมืองและภูมิประเทศที่มีเนินเขาของภาคเหนือ ด้วยระบบขับเคลื่อนที่เงียบช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนที่หนาแน่น รวมถึงมีระบบจัดการพลังงานที่เหมาะสมสำหรับการขนส่งในระยะทางไกล”
ทั้งนี้ภายในปี 2025-2026 มีแผนขยายการใช้รถโม่พลังงานไฟฟ้า CPAC EV Mixer Truck ไปยังหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างจังหวัดเชียงราย, ชลบุรี และภูเก็ต รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนรถโม่พลังงานไฟฟ้าทดแทนรถโม่สันดาปที่มีสภาพเครื่องยนต์เก่า ขณะเดียวกันจะพัฒนารถโม่พลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อสะดวกต่อการใช้งานในพื้นที่ชุมชนซึ่งนอกจากจะไม่มีมลภาวะทางอากาศแล้วยังลดมลภาวะทางเสียงได้อีกด้วย
ถือเป็นความร่วมมือของหลายองค์กรที่มีเป้าหมายเดียวกันคือ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมก่อสร้าง มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ไม่เพียงแค่การร่วมมือกันใช้การขนส่งสีเขียวเท่านั้น แต่การเลือกใช้สินค้าคาร์บอนต่ำหรือสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะช่วยโลกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสและความแตกต่างในเชิงการแข่งขันให้กับคู่ธุรกิจ ตั้งแต่เจ้าของโครงการ, ผู้รับเหมาก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับสิทธิประโยชน์การกู้ยืมสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อทั่วไป มุ่งเน้นการสนับสนุนโครงการที่มีเป้าหมายในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนในการดำเนินงานของธุรกิจในระยะยาว อีกทั้งในอนาคตประเทศไทยเตรียมเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เพื่อบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจหันมาใช้พลังงานสะอาด สอดคล้องกับการที่ CPAC ไม่หยุดพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ซึ่งจะทำให้คู่ธุรกิจเติบโตสู่ความยั่งยืนไปพร้อมกัน
1470