ไทยออยล์ ได้รับการคงอันดับความน่าเชื่อถือระดับน่าลงทุน หรือ Investment Grade
จากการจัดอันดับโดย S&P Global Ratings และ Moody’s หลังประกาศการเพิ่มเงินลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP)
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) ที่ระดับ BBB ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทฯ ในระดับน่าลงทุน หรือ Investment Grade อย่างไรก็ตาม S&P ได้ปรับสถานะการติดตามเครดิตเป็นเชิงลบอันเนื่องมาจากความล่าช้าและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของโครงการ CFP
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 23 ธันวาคม 2567 บริษัท Moody's Investors Service (Moody's) ได้ประกาศคงอันดับ ความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ ที่ระดับ Baa3 ซึ่งเป็นระดับน่าลงทุน Investment Grade เช่นเดียวกัน โดย Moody's มองว่า บริษัทฯ มีสภาพคล่องทางการเงินในเกณฑ์ที่ดี และมีการวางแผนมาตรการทางการเงินอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม Moody's ได้ปรับสถานะเป็นมุมมองเชิงลบ จากความล่าช้าและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของโครงการ CFP
การได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับน่าลงทุน Investment Grade จากสถาบันทั้งสองแห่งสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและเสถียรภาพทางการเงินของบริษัทฯ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพและการบริหารจัดการที่มั่นคงในระยะยาว นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตและการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นในอนาคต รวมทั้งความสามารถในการดำเนินงานอย่างมั่นคงท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ในอุตสาหกรรม
สำหรับบรรณาธิการ
ไทยออยล์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการโรงกลั่นนํ้ามันแบบคอมเพล็กซ์ (Complex Refinery) และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504 โดยมีธุรกิจหลักคือ การกลั่นนํ้ามันปิโตรเลียม ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 275,000 บาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้ ไทยออยล์มีระบบการบริหารจัดการที่มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ (Operational Excellence) โดยบริหารงานเป็นกลุ่มที่มีการเชื่อมโยงธุรกิจ ทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน โดยร่วมวางแผนการผลิตก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนต่ำ
ขณะเดียวกัน มีคุณภาพสูงในระดับโรงกลั่นชั้นนำ (Top quartile) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำให้ได้เปรียบเชิงต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลากหลาย เช่น ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจสารทำละลาย ธุรกิจบริหารการขนส่ทางท่อ ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาด และธุรกิจ New S-Curve