พาณิชย์ ขึ้นทะเบียน GI ใหม่'มะม่วงเขียวเสวยแปดริ้ว' ของดีจังหวัดฉะเชิงเทรา
นภินทร เผยกรมทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ ‘มะม่วงเขียวเสวยแปดริ้ว’ สินค้า GI ลำดับที่ 3 ของ จ.ฉะเชิงเทรา มีจุดเด่น ลูกใหญ่ เนื้อแน่น รสชาติหวานมัน มั่นใจช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และเพิ่มรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ คือ มะม่วงเขียวเสวยแปดริ้ว เป็นสินค้า GI ลำดับ 3 ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ต่อจากสินค้ามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า และมะพร้าวน้ำหอมบางคล้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ไปก่อนหน้านี้ โดยมั่นใจว่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนผู้เพาะปลูกมากขึ้น
สำหรับ มะม่วงเขียวเสวยแปดริ้ว คือ มะม่วงพันธุ์เขียวเสวย มีลักษณะผลทรงรี เปลือกสีเขียวนวล เนื้อมีสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน รสชาติหวานมัน เมล็ดลีบแบนและยาวตามลักษณะทรงผล ปลูกครอบคลุมพื้นที่ 8 อำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบางคล้า อำเภอคลองเขื่อน อำเภอราชสาส์น อำเภอพนมสารคาม อำเภอแปลงยาว อำเภอสนามชัยเขต และอำเภอท่าตะเกียบ มีลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบและที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำบางปะกงเป็นแม่น้ำสายหลักไหลผ่านออกสู่ทะเลอ่าวไทย
โดยแม่น้ำบางปะกง ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุน ในฤดูน้ำหลากจะพัดเอาตะกอนดินเหนียว ซากพืช ซากสัตว์ และแร่ธาตุต่างๆ มารวมกัน อีกทั้งยังมีน้ำเค็มซึมผ่านเข้าไปในแม่น้ำ เกิดการกระจายความเค็มในพื้นที่ผ่านคลองสายต่าง ๆ เมื่อตะกอนน้ำจืดและตะกอนน้ำกร่อยผสมกัน จะส่งผลให้พื้นที่ตลอดเส้นทางน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ ดินมีธาตุอาหารที่เหมาะกับการปลูกมะม่วงเขียวเสวย
ประกอบกับจังหวัดฉะเชิงเทรา มีภูมิอากาศแบบเขตเมืองร้อน ส่งผลให้มะม่วงเขียวเสวยแปดริ้ว ผลใหญ่ เนื้อหนาละเอียด กรอบ อร่อย รสชาติหวานมัน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น จนได้รับรางวัลจากการประกวดงานเกษตรแฟร์ประจำปี 2534 , 2538 และ 2544 ที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรางวัลชนะเลิศพระราชทานรางวัลเทพทองในปี 2553 สร้างชื่อเสียงให้มะม่วงเขียวเสวยแปดริ้วเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และสร้างรายได้ให้กับจังหวัดฉะเชิงเทรากว่า 61 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบันมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด จำนวน 216 รายการ สร้างมูลค่ากว่า 77,000 ล้านบาท ทำให้สินค้าท้องถิ่นได้รับการยกระดับมูลค่า สร้างรายได้สู่ชุมชน และสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของไทย โดยได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าขึ้นทะเบียน GI ให้กับสินค้าท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง และดูแลควบคุมคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคด้วย