ไทยยูเนี่ยน เดินหน้ากลยุทธ์ SeaChange® 2030 สานต่อโครงการรักษ์ทะเล สร้างบ้านปะการัง ภูเก็ต ปีที่ 2 พร้อมจับมือพันธมิตร ลุยฟื้นฟูท้องทะเลอย่างยั่งยืน
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก พร้อมด้วย บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด, มูลนิธิเอิร์ธ อะเจนด้า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมขับเคลื่อนโครงการรักษ์ทะเล ในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ร่วมกันทั้งหมด 109 ชิ้น พร้อมติดตามความคืบหน้าผลงานการติดตั้งบ้านปะการังปีแรกจากนวัตกรรม SCG 3D Printing พบว่ามีตัวอ่อนปะการังและปลาเข้าไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับแนวทางการดูแลท้องทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อโลก เพื่อเรา ภายใต้กลยุทธ์ SeaChange®2030
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทำให้ความสมดุลทางท้องทะเลลดลงจากการที่แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเสียหาย จำนวนสัตว์น้ำลดลง มีผลต่อเนื่องถึงความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงศักยภาพของการใช้ประโยชน์จากทะเลลดลงตามไปด้วย ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคือการเร่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างจริงจัง โดยโครงการรักษ์ทะเล ที่ภาคเอกชนอย่างไทยยูเนี่ยน และ SCG จับมือกันร่วมกับพันธมิตร เพื่อมุ่งสร้างบ้านปะการังนับว่ามีประโยชน์ต่อท้องทะเลไทยมาก เพราะหลังจากที่วางบ้านปะการังที่เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต ไปในปีแรกทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่าในพื้นที่ที่วางไปเริ่มมีตัวอ่อนปะการังมาเกาะมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ และมีปลามาอยู่อาศัยเป็นบ้านแห่งใหม่นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างความอุดมสมบูรณ์คืนให้ท้องทะเล
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ รู้สึกยินดีที่ไทยยูเนี่ยนได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในโครงการรักษ์ทะเล ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญ และภาคเอกชน ที่มีเป้าหมายในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ร่วมกันสร้างบ้านปะการัง ในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ปีนี้นับเป็นโอกาสดีที่ไทยยูเนี่ยนได้มีโอกาสลงไปสำรวจความคืบหน้าร่วมกับทางมูลนิธิเอิร์ธอะเจนด้าด้วยตัวเอง โครงการนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ของไทยยูเนี่ยน ที่มีหนึ่งในพันธกิจสำคัญคือการฟื้นฟูระบบนิเวศทั้งทางทะเลและทางบก เพื่อตอบโจทย์เรื่องการดูแลสุขภาพผู้คนและสุขภาพท้องทะเล หรือ Healthy Living, Health Oceans
“การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นวาระเร่งด่วนของทุกคน แทบทุกภูมิภาคของโลกได้เผชิญกับปรากฎการณ์โลกเดือด ไม่ว่าจะเป็น เอลนินโญ ลานินญ่า หรือโอเชี่ยน วอร์มมิ่ง เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างความตระหนักรู้และลงมือทำเพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ด้วยความร่วมมือในการปกป้องทรัพยากรทางทะเลอันมีค่าของเราอย่างต่อเนื่อง ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นความสำเร็จของการฟื้นฟูแนวปะการังอย่างเป็นรูปธรรม และเราจะเดินหน้าสนับสนุนและดูแลสิ่งแวดล้อมทางท้องทะเล โดยเฉพาะในประเทศไทยอย่างดีที่สุด วันนี้ไทยยูเนี่ยนยังมีโครงการด้านสิ่งแวดล้อมอีกมากที่ทำต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าโกงกาง การกำจัดขยะทะเล การเก็บขยะชายหาดที่ทำต่อเนื่องทั้งปี เป็นต้น เพื่อคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศทางทะเล และอนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป” นายธีรพงศ์ กล่าว
นายชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารความยั่งยืน เอสซีจี กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมวางบ้านปะการัง ณ เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต ปีนี้ ทาง SCG ได้เริ่มนำนวัตกรรม SCG 3D Printing รุ่นใหม่ ที่เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นรูปด้วยปูนมอร์ตาร์ ที่มีคุณสมบัติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาผลิตเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ที่มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ พัฒนาให้เหมาะกับสายพันธุ์ปะการังและสภาพแวดล้อมในท้องทะเลนั้นๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลงเกาะและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการัง เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นอกจากความตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานอนุรักษ์แล้ว SCG ยังพร้อมเป็นสื่อกลางให้ภาคเอกชนและประชาชนที่มีความสนใจ เข้าถึงและมีส่วนร่วมในงานฟื้นฟูแนวปะการัง
รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา ชันซื่อ ประธานมูลนิธิ เอิร์ธ อะเจนด้า กล่าวว่า ปะการังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งพบในมหาสมุทรมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจจุบันกำลังเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์ การฟื้นฟูแนวปะการังจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล และจากการได้ลงสำรวจพื้นที่วางบ้านปะการังร่วมกับไทยยูเนี่ยน และทช. พบว่า ผลลัพธ์เป็นที่น่าพึงพอใจ โดยพบการเติบโตของปะการังอย่างมีนัยสำคัญ และมีสัตว์เกาะติดราว 11 ประเภทรวมทั้งตัวอ่อนปะการังเข้ามาเกาะในบ้านปะการังนับเป็นการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ปกป้องระบบนิเวศ รักษาความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทร และความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ไทยยูเนี่ยน ได้ให้การสนับสนุนโครงการรักษ์ทะเลผ่านโครงการบ้านปะการัง ณ เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะวางบ้านปะการังรวมทั้งสิ้น 210 ชิ้น
12125