นักวิชาการเตือน! สันติภาพโลกกำลังเสื่อมถอย เปิดทางให้คนรุ่นใหม่และชาติพันธุ์นำพาโลกสู่ความเท่าเทียม คาดหวังเวที One Young World ปลุกพลังเยาวชนไทย
ตัวแทนผู้นำเยาวชน 20 คนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และบริษัทในเครือ เดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนโลก One Young World 2024 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ 18- 21 กันยายน 2567 หลังได้ผ่านกระบวนการคัดเลือก และเข้าอบรมความเชี่ยวชาญที่สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
การประชุมระดับโลกดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ให้ตัวแทนผู้นำเยาวชนไทย และผู้นำเยาวชนอีก 190 ทั่วโลกได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหาแนวทางรับมือเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติระดับโลกทั้ง 5 ประเด็น คือ 1.เสียงของชนพื้นเมือง 2.วิกฤตภูมิอากาศ และนิเวศวิทยา 3.ปัญญาประดิษฐ์ 4.ความเท่าเทียมทางสุขภาพ และ 5.สันติภาพของโลก
โอกาสนี้ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ และนักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพ ได้แสดงความชื่นชม และยินดีกับคณะเยาวชนไทยในฐานะคนรุ่นใหม่ ที่จะเป็นกระบอกเสียง เปลี่ยนแปลงโลก โดยเฉพาะประเด็นสันติภาพโลก ที่ถูกสั่นคลอนจากสงคราม และความขัดแย้ง ในหลายภูมิภาคทั่วโลก อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครน และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส เป็นต้น ขณะที่ดัชนีชี้วัดสันติภาพทั้ง 4 มิติก็เสื่อมถอยลง คือ สันติภาพตัวมนุษย์ สันติภาพชุมชน สันติภาพทางธรรมชาติ และสันติภาพระบอบธรรมะ
“แม้ว่าความขัดแย้งจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ถ้าเราจัดการไม่ถูก สันติภาพก็จะเกิดขึ้นยาก โดยการเสื่อมถอยนั้นมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้น คือ ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงมาก ส่งผลให้สังคมแตกแยก สังคมจึงต้องจัดระบบให้ดี เป็นโลกแห่งการกระจายแจกจ่าย และสร้างสรรค์ความร่วมมือ” ศ.ดร.เกรียงศักดิ์กล่าว
และได้เสนอให้โลกจัดระเบียบใหม่ผ่าน “ระเบียบโลกแห่งการกระจายแจกจ่าย” หรือ Distributive World Order ทดแทน “ระเบียบโลกแห่งการเผชิญหน้า” หรือ Confrontation World Order ซึ่งเป็นระเบียบโลกเดิม และเป็นการเมืองแบบต่อสู้กัน เศรษฐกิจไม่เท่าเทียม ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ โดยระเบียบโลกแห่งการกระจายแจกจ่ายจะเน้น “คนตัวใหญ่ ช่วยคนตัวน้อย” นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เป็นผู้นำสู่การเปลี่ยนแปลงสันติภาพ
“เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะมีทักษะแก้ไขปัญหาวิกฤติโลกด้านสันติภาพได้ เพื่อลดระเบียบโลกแบบเผชิญหน้า หันมาเป็นโลกแห่งการกระจายแจกจ่าย ณ วันนี้ขอเพียงคนรุ่นใหม่รับทราบว่า สันติภาพจะไม่เกิด หากไม่ลงมือทำ เป็นไปได้หรือไม่ ที่เวที One Young World จะทำปฏิญญาสันติภาพร่วมกัน เพื่อให้มีสัญญาใจ ปูทางสู่การทำงานร่วมกันในอนาคต” ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายเจษฎาภรณ์ ครองสินภิญโญ ตัวแทนเยาวชนไทยจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เชื่อมั่นว่าคนรุ่นใหม่จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมแก้วิกฤตสันติภาพได้
“สังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยความขัดแย้งและเห็นต่าง จึงนำไปสู่สงครามและความรุนแรง อยากที่จะร่วมสนับสนุนความรู้สึกเข้าอกเข้าใจ และมนุษยธรรม ให้ทุกคนได้เข้าใจและหาทางออกทุกปัญหาด้วยสันติวิธี การมีข้อขัดแย้งเป็นสิ่งที่ดีและทำให้สังคมเราเติบโตขึ้น ตราบเท่าที่ทางออกไม่ใช่ความรุนแรง” คุณเจษฎาภรณ์กล่าว
นอกจากประเด็นสันติภาพแล้ว “เสียงจากคนพื้นเมือง” หรือ Indigenous Voice ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของเวที One Young World 2024 กับคำถามที่ว่า จะทำอย่างไรให้เสียงของชุมชนพื้นเมืองได้รับการยอมรับในกระบวนการตัดสินใจระดับโลก หลังชุมชนพื้นเมืองกว่า 476 ล้านคนใน 90 ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเผชิญความท้าทายต่อการรักษาวัฒนธรรม และประเพณีของตนเอง
โอกาสนี้ นายอภินันท์ ธรรมเสนา นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ผู้เชี่ยวชาญด้านกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย พบว่า ขณะนี้สังคมไทยยังมองกลุ่มชาติพันธุ์เป็น “คนอื่น” แปลกแยกจากคนไทยโดยทั่วไป ทัศนคตินี้ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยก และละเลย จนเกิดปัญหาทางโครงสร้าง และเศรษฐกิจตามมา อาทิ การเข้าไม่ถึงสถานะ และสิทธิที่ควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม ขาดความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน เป็นต้น
“การแก้ปัญหาชาติพันธุ์ต้องทำคู่ขนานกัน คือ ในเชิงวัฒนธรรมเราต้องสร้างทัศนคติเชิงบวก ให้สังคมไทยยอมรับความแตกต่าง และโอบรับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ขณะที่ในเชิงกลไกทางกฎหมาย ก็ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะต้องมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย” นายอภินันท์กล่าว
ทั้งนี้ นายอภินันท์เสนอแนะขั้นตอน 3 ขั้นสำหรับเพิ่มเสียงคนพื้นเมือง เริ่มจากขั้นแรก คือ การสร้างประสบการณ์ให้สังคมไทยสัมผัสกับวิถีวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ โดยสร้างพื้นที่แสดงออกทางวัฒนธรรมให้เกิดความใกล้ชิด ขั้นสอง คือ การหนุนเสริมศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์บนฐานภูมิปัญญาที่จะทำให้ชุมชนชาติพันธุ์ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตนเอง และเป็นพลังสร้างสรรค์ของประเทศ และขั้นสุดท้าย คือ การปรับกระบวนการเรียนรู้ใหม่ของสังคมไทย โดยติดตั้งวิธีคิดเรื่องความหลากหลายและเท่าทันอคติทางวัฒนธรรมผ่านการพัฒนาหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ด้านชาติพันธุ์
นอกจากนี้ นายอภินันท์ พบว่า คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยเริ่มมีทัศนคติเชิงบวก และเปิดกว้างต่อความหลากหลายมากขึ้น นับเป็นพัฒนาการทางสังคมที่ดี แต่ความท้าท้ายคือ จะทำให้สังคมส่วนใหญ่เข้าถึงประเด็นชาติพันธุ์ได้อย่างไร พร้อมฝากน้องๆ One Young Worldเครือซีพี เป็นกระบอกเสียงต่อยอดความเท่าเทียมของชาติพันธุ์ในเวทีโลก
“ตอนนี้นอกจากเรามีสมรสเท่าเทียมแล้ว ไทยกำลังจะมีกฎหมายชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นจุดที่เราสามารถแสดงความก้าวหน้าของสังคมไทยต่อเวทีนานาชาติ ว่าเรากำลังยอมรับความหลากหลายของคน ที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่าง และยอมรับสถานะของเขา จึงบอกได้ว่าวันนี้สังคมไทยกำลังจะเปลี่ยน” นายอภินันท์กล่าว
ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎร ได้รับหลักการกฎหมายชาติพันธุ์ 5 ฉบับ ซึ่งรวมถึงร่างพ.ร.บ. คุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นร่างของรัฐบาล โดยกฎหมายทั้ง 5 ฉบับมีจุดประสงค์ร่วมกัน คือ การมุ่งให้ความคุ้มครองสิทธิของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไม่เลือกปฏิบัติ ให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตตามวัฒนธรรมดั้งเดิมได้อย่างสงบสุข
มุมมอง และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่าน ในประเด็นสันติภาพ และคนพื้นเมือง จึงช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ให้กับน้องๆ One Young World เครือซีพี ตัวแทนประเทศไทย ในการประชุมเยาวชนผู้นำโลก ทำหน้าที่กระบอกเสียงคนรุ่นใหม่ เปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น
9552