พาณิชย์ เผยเอกชนใช้สิทธิประโยชน์ FTA ดันส่งออกไทยภายใต้ FTA 9 เดือน โต 2.11%
กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเดือนมกราคม – กันยายนของปี 2567 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 63,501.81 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,189,192.82 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิภายใต้ FTA 85.58% โดยมีอัตราการใช้สิทธิฯ เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ในปี 2566 ที่ 2.11%
นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2567 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลง FTA รวม 63,501.81 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 85.58% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 2.11% ซึ่งเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567
โดยเป็นการส่งออกไปยังอาเซียนภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 24,504.19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 82.34%
อันดับสองเป็นการใช้สิทธิฯ ภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) มูลค่า 17,348.82 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 91.17% อันดับสามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 5,109.13 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 83.94% อันดับสี่ ความตกลงการค้าเสรีไทย – ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 4,704.71 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 59.45% อันดับห้า ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 4,232.42 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 63.45%
นางอารดาฯ เพิ่มเติมว่า จาก FTA ทั้งหมด 12 ฉบับที่กรมการค้าต่างประเทศติดตามการใช้สิทธิฯ ในปัจจุบัน มี FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิฯ เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน ปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 8 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย – เปรู เพิ่มขึ้น 47.60% ความตกลงการค้าเสรีไทย – ชิลี เพิ่มขึ้น 23.84% ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ (ส่งออกไปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) เพิ่มขึ้น 16.88%
ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน เพิ่มขึ้น 10.04% ความตกลงเร่งรัดการลดภาษีไทย – อินเดีย เพิ่มขึ้น 8.15% ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – อินเดีย (ส่งออกไปอินเดีย) เพิ่มขึ้น 2.80% ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพิ่มขึ้น 2.48% และความตกลงการค้าเสรีไทย -ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 1.35% เป็นผลมาจากภาพรวมการส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 จาก 214,500.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 222,964.06 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567
โดยสินค้าที่มีการส่งออกภายใต้ความตกลง FTA ในช่วงเดือนมกราคม – กันยายน ปี 2567 แบ่งเป็นสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป 5 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียนสด เนื้อไก่แปรรูป เนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และน้ำตาล มูลค่ารวม 18,451.60 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 29.06% ของมูลค่าการใช้สิทธิฯ
และสินค้าอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานยนต์ขนส่งของ ยานยนต์สำหรับขนส่งบุคคล ยางสังเคราะห์และแฟกติชที่ได้จากน้ำมัน เครื่องปรับอากาศและเครื่องซักผ้า มูลค่ารวม 45,050.21 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 70.94% ของมูลค่าการใช้สิทธิฯ
นางอารดาฯ คาดการณ์แนวโน้มการใช้สิทธิ FTA ในปี 2568 ว่าการใช้สิทธิ FTA มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ผลมาจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการส่งออกผ่านการใช้สิทธิ FTA และการแข่งขันของการค้าระหว่างประเทศที่มีความเข้มข้นเนื่องจากการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA เป็นการสร้างแต้มต่อให้สินค้าไทยในการรักษาตลาดและขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น
โดยอันดับหนึ่งคาดว่าจะยังคงเป็นตลาดอาเซียน สิ่งที่น่าจับตามองในปี 2568 ของตลาดอาเซียน คือ การส่งออกไปยังเวียดนามที่มีสถิติการใช้สิทธิฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 สำหรับตลาดจีน จากข้อมูลสถิติช่วงเดือนมกราคม – กันยายน 2567 พบว่า ทุเรียนสด เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดภายใต้ความตกลง FTA ทั้ง 12 ฉบับ ติดต่อกันหลายเดือนในช่วงที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่ทุเรียนไทยจะยังคงครองตลาดในจีนอย่างต่อเนื่องในปี 2568
นางอารดาฯ ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้ติดอาวุธสำหรับการแข่งขันด้วยการสร้างแต้มต่อทางการค้าผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA
โดยเฉพาะการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าผ่านระบบการให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัลของกรมการค้าต่างประเทศ การเปิดคลินิกให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า หรือแม้แต่การอบรมแบบโฟกัสกรุ๊ปให้ความรู้และตอบข้อซักถามเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้สิทธิฯ ในแต่ละกรอบ FTA ที่น่าสนใจ โดยสามารถติดตามการจัดฝึกอบรมต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์ กรมการค้าต่างประเทศ และ facebook “กรมการค้าต่างประเทศ DFT”