หมวดหมู่: มติ ครม.

GOV 28


รายงานผลการเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอผลจากการเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates: UAE) ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ของรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ฯ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะผู้บริหารระดับสูงของ พณ. ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2566 [คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 กุมภาพันธ์ 2566) ที่เห็นชอบการเข้าร่วมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) กับ UAE ของประเทศไทย กรอบการเจจาความตกลงฯ และเอกสารร่างขอบเขต (Term Of Reference:TOR) สำหรับการเจรจาจัดทำความตกลงฯ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

          1. ประเด็นการหารือ รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ฯ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับรัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจ UAE ด้านการค้าต่างประเทศสรุปได้ ดังนี้

                    1.1 ไทยและ UAE เห็นพ้องที่จะจัดทำ CEPA ระหว่างกันเนื่องจากจะก่อให้เกิดการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนอย่างยั่งยืน โดยทั้งสองฝ่ายได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบหารือเพื่อให้สามารถเริ่มการเจรจาได้โดยเร็ว ซึ่งไทยจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาก่อนประกาศเริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการต่อไปและจะผลักดันให้การเจราจาแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ทั้งนี้ ปัจจุบัน UAE มีความตกลง CEPA ที่ได้ข้อสรุปแล้วร่วมกับ 3 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอินเดีย รัฐอิสราเอล และสาธารณรัฐอินโดนีเซียและอยู่ระหว่างเร่งเจรจากับหลายประเทศ เช่นสาธารณรัฐตุรกี ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐเกาหลี

                    1.2 การส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและ UAE ได้แก่ (1) การจัดตั้งกลไกสภาธุรกิจ (Joint Business Council. (JBC) ไทย-UAE เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุน และการดำเนินธุรกิจ (2) การเชิญชวนนักธุรกิจ UAE มาลงทุนในไทย โดย UAE สนใจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล และความมั่นคงทางอาหาร และ (3) การเชิญชวนนักธุรกิจ UAE เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในไทย เช่น งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair (สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ) และงาน THAIFEX (อาหาร)

                    1.3 การขอเสียงสนับสนุนให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialised Expo1 2028 ซึ่งองค์การนิทรรศการนานาชาติจะจัดให้มีการเลือกประเทศเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวในเดือนมิถุนายน 2566

          2. รองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ฯ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาซื้อขายสินค้า (Memorandum of Purchasing: MoP) และความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MoU) ระหว่างภาคเอกชนไทยและ UAE สรุปได้ ดังนี้

                    2.1 การลงนาม MoP ระหว่างบริษัทไทยและ UAE จำนวน 5 คู่ ใน 4 กลุ่มสินค้า ได้แก่ อาหาร สุขภัณฑ์และกระเบื้องเซรามิค ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์เมลามีน มูลค่ารวม 1,330 ล้านบาท

                    2.2 การลงนามจัดตั้ง JBC ไทย-UAE ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดมูลค่าการค้าระหว่างไทยและ UAE จำนวน 30,000 ล้านบาท

                    2.3 การลงนาม MoU ระหว่าง DP World (บริษัทด้านโลจิสติกส์ของ UAE) กับภาคเอกชนไทยเกี่ยวกับความร่วมมือด้านโลจิสติกส์ภายใต้โครงการ World Logistics Passport (WLP2) ซึ่งเอกชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้ (1) การลดต้นทุนโลจิสติกส์ (2) การประหยัดเวลาขนส่งสินค้าจากการลดขั้นตอนพิธีการศุลกากร (3) การเข้าถึงประเทศที่เป็นสมาชิก WLP ได้ง่ายขึ้น และ (4) การใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการขนส่งระหว่างประเทศของ DP World

                    ทั้งนี้ การเดินทางเยือน UAE ในครั้งนี้จะก่อให้เกิดมูลค่าการค้าระหว่างไทย-UAE จำนวน 31,330 ล้านบาท

          3. กิจกรรมอื่นๆ ประกอบด้วย

                    3.1 การประชุมร่วมกับทีมเศรษฐกิจของไทยใน UAE ปัจจุบันอินเดียเป็นคู่แข่งทางการค้ารายสำคัญของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลางเนื่องจากอินเดียมีระยะทางการขนส่งสินค้าที่ใกล้กว่าไทย ประกอบกับอินเดียได้จัดทำ CEPA กับ UAE และอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) กับกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมีอรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC3) ทั้งนี้ หากอินเดียได้ทำ FTA กับกลุ่ม GCC จะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าจากอินเดียมีความรวดเร็วและราคาถูกกว่าไทย ดังนั้น จึงได้เสนอให้ พณ. จัดทำ FTA กับกลุ่มประเทศ GCC

                    3.2 พิธีเปิดโครงการ Thai Souq ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมและกระจายสินค้าและบริการของไทยในเมืองดูไบ โดยปัจจุบันมีร้านค้ามากกว่า 30 ร้าน เช่น ร้านอาหาร ของที่ระลึก เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านนวดแผนไทย

          4. แนวทางการดำเนินการในระยะต่อไปของ พณ. 

                    4.1 อยู่ระหว่างประสานกับฝ่าย UAE เพื่อจัดการประชุมหารือประเมินการเจรจาเพื่อจัดทำ CEPA ระหว่างไทย-UAE ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ CEPA ระหว่างไทย-UAE ซึ่งคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566

                    4.2 จัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างไทย-UAE เพื่อให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยขยายตัวตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทย การส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าไทย การจัด คณะผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าใน UAE และการจัดคณะผู้แทนการค้าจาก UAE มาเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการไทย และการเชิญผู้นำเข้าจาก UAE เข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทย

____________

1 Specialised Expo หรืองานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ เป็นงานมหกรรมระดับโลกภายใต้ลิขสิทธิ์ขององค์การนิทรรศการนานาชาติเพื่อการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านต่างๆ ของประเทศเจ้าภาพ

2 WLP ประกอบด้วยสมาชิกและพันธมิตร 17 ประเทศ ได้แก่ UAE ไทย สหรัฐเม็กซิโก สาธารณรัฐโคลอมเบีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สาธารณรัฐอุรุกวัย ราชอาณาจักรโมร็อกโก สาธารณรัฐเซเนกัล สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สาธารณรัฐคาซัคสถาน สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ มาเลเซีย สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

3 GCC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ UAE ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน รัฐสุลต่านโอมาน รัฐกาตาร์ และรัฐคูเวต

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มีนาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A3922

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!