หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

TRIS7 15


ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ‘บ.สหโคเจน (ชลบุรี)’ ที่ ‘A’แนวโน้ม ‘Stable’

     ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) (SCG) ที่ระดับ ‘A’ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการมีกระแสเงินสดที่มั่นคงจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว (PPA) กับผู้ซื้อที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ., อันดับเครดิต ‘AAA/Stable’)

       และบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (SPI, อันดับเครดิต ‘AA/Stable’) นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทยังสะท้อนถึงฐานลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายและผลการดำเนินงานที่เป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทก็ถูกจำกัดจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม รวมถึงระดับหนี้เงินกู้ที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงขยายธุรกิจ

    นอกจากนี้ อันดับเครดิตองค์กรก็สะท้อนมุมมองของทริสเรทติ้งว่า SCG เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ (Strategic Subsidiary) ของ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH, อันดับเครดิต ‘AA+/Stable’) ซึ่งช่วยให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งขั้นจากอันดับเครดิตเฉพาะ (Stand-alone Credit Profile -- SACP) ของบริษัทที่ระดับ ‘a-‘

 

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

รายได้มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับกลุ่มผู้ซื้อที่มีความน่าเชื่อถือ

บริษัทมีกระแสเงินสดรับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกลุ่มผู้ซื้อที่มีความน่าเชื่อถือ บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 214 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ศรีราชา

โดยบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปีกับ กฟผ. ที่ขนาดกำลังการผลิต 90 MW ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) ซึ่งสัญญาดังกล่าวจะหมดอายุลงในเดือนเมษายน 2567 และจะเปลี่ยนเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 25 ปี กับ กฟผ. ฉบับใหม่ที่ขนาดกำลังการผลิต 30 MW ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าทดแทน (SPP Replacement)

บริษัทยังจำหน่ายไฟฟ้าขนาด 80 MW และไอน้ำที่ 60 ตันต่อชั่วโมงให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ศรีราชาผ่านทาง SPI ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 2 แห่งภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ., อันดับเครดิต “AAA/Stable”) รวม 15 MW

รายได้จาก กฟผ. และ กฟภ. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 60% ของรายได้รวมของบริษัท ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ศรีราชา

 

สัญญาซื้อขายไฟฟ้าช่วยจำกัดความเสี่ยงด้านตลาดและราคาเชื้อเพลิง

สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ซึ่งอยู่ในรูปแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย (Take-or-pay Basis) ช่วยลดความเสี่ยงด้านตลาดของบริษัทด้วยการกำหนดให้ EGAT สั่งการจ่ายไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 80% ของความพร้อมจ่ายไฟฟ้าตามสัญญา นอกจากนี้ ยังมีกลไกการส่งผ่านภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนระบุอยู่ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งช่วยลดความผันผวนของกำไรอีกด้วย

 

กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองช่วยให้ผลการดำเนินงานมีเสถียรภาพ

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมกัน 214 MW สะท้อนถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองไม่น้อยกว่า 30 MW ซึ่งเป็นส่วนเกินจากกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม การดำเนินงานโรงไฟฟ้าแบบหลายหน่วยนี้ช่วยเพิ่มเสถียรภาพในการดำเนินงาน

โดยผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในช่วงปี 2561 ถึงเดือนมีนาคม 2566 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ จากดัชนีค่าความพร้อมที่อยู่ที่ 93%-97% และมีดัชนีการหยุดซ่อมนอกแผนเฉลี่ยต่ำกว่า 0.5% แม้ว่าจะมีกังหันก๊าซหนึ่งหน่วยเกิดอุบัติเหตุในช่วงกลางปี 2565

แต่ผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าก็มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้ กฟผ. ในปี 2565 จำนวน 608 กิกะวัตต์-ชั่วโมง (ล้านหน่วย) ลดลงเพียง 2.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

 

การขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินงานโรงไฟฟ้า VSPP ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล 2 แห่งผ่านบริษัทย่อยซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. ที่กำลังการผลิตรวม 15 MW ภายใต้โครงสร้างราคาแบบ Feed-in-Tariff (FiT) โดยในปี 2561-2565 โรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งนี้สร้างรายได้ให้บริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13% ของรายได้รวม

และโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งไม่มีข้อกังวลเรื่องการจัดหาวัสดุเชื้อเพลิงชีวมวลเนื่องจากพื้นที่โดยรอบมีการทำการเกษตรจำนวนมากและมีการแข่งขันจากโรงไฟฟ้าชีวมวลอื่นไม่มากนัก ทั้งนี้ ดัชนีความพร้อมของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งในปี 2565 อยู่ในระดับที่น่าพึ่งพอใจที่ประมาณ 95% และสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ให้แก่บริษัทรวมประมาณ 70 ล้านบาทในปี 2565

ในฐานะที่เป็นบริษัทในกลุ่ม RATCH ที่เน้นด้านการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน SCG มุ่งมั่นที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยล่าสุด บริษัท โซลาริสท์ ทุ่งฝาย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCG ได้รับเลือกให้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 27 MW กับ กฟผ.

โดยมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในปี 2573 นอกจากนี้ SCG และ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมเพื่อพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาให้กับโรงพยาบาลในกลุ่ม PRINC

ทั้งนี้ บริษัทกำลังพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาจำนวน 9 โครงการ ที่กำลังการผลิตติดตั้งรวม 7.0 MW และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในครึ่งหลังของปี 2566

 

โครงการ SPP Replacement มีความคืบหน้าตามแผน

การก่อสร้างโครงการ SPP Replacement มีความคืบหน้าโดยรวม 79% ณ เดือนมีนาคม 2566 ซึ่งยังคงเป็นไปตามแผน จากมูลค่าโครงการทั้งหมด 2.7 พันล้านบาทนั้น บริษัทมีค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับโครงการนี้ในช่วงปี 2566 ถึงเดือนเมษายน 2567 รวม 1.6 พันล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 76 MW และกำลังการผลิตไอน้ำขนาด 75 ตันต่อชั่วโมง โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปีกับ กฟผ. ที่กำลังการผลิต 30 MW ภายใต้โครงการ SPP Replacement ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงการนี้จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ตรงตามกำหนดการในเดือนเมษายน 2567 ซึ่งตรงกับช่วงที่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับปัจจุบันจะหมดอายุลง

ปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. จะลดลงตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ซึ่งเป็นไปตามกำลังการผลิตตามสัญญาใหม่ที่จะลดลงเหลือ 30 MW จากเดิม 90 MW ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะใช้กำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้เป็นโรงไฟฟ้าหลัก (Base Load Plant) ในการจำหน่ายไฟฟ้าให้ทั้ง กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม

โรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้จะมีประสิทธิภาพดีกว่าโรงไฟฟ้าปัจจุบันโดยจะใช้ก๊าซธรรมชาติในอัตราที่น้อยกว่าสำหรับการผลิตไฟฟ้าในจำนวนที่เท่ากัน โรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้มีค่าความร้อนที่ 7,400-7,500 บีทียูต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง (BTU/kWh) ในขณะที่โรงไฟฟ้าปัจจุบันมีค่าความร้อนประมาณ 8,500 BTU/kWh

 

ความล่าช้าในการปรับค่า Ft กดดันผลกำไรในปี 2565

ราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกอปรกับความล่าช้าในการปรับค่า Ft (ค่าไฟฟ้าผันแปร) ส่งผลลบต่อกำไรจากการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมซึ่งมีโครงสร้างราคาที่อ้างอิงจากโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของ กฟภ. ที่มีค่า Ft อยู่ในสูตรด้วย

ทั้งนี้ การปรับค่า Ft นั้นก็เพื่อเพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงต้นทุนเชื้อเพลิง อย่างไรก็ดี การปรับค่า Ft นั้นมักจะมีความล่าช้า อีกทั้ง ระยะเวลาและมูลค่าที่ปรับนั้นก็ยังขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหน่วยงานกำกับดูแลอีกด้วย ดังนั้น ในกรณีที่ค่าเชื้อเพลิงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ค่า Ft ปรับตัวไม่ทันก็อาจมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลกำไรจากการขายไฟฟ้าให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 34% ของปริมาณพลังงานรวมที่ผลิตได้ของบริษัท

ในปี 2565 ราคาซื้อก๊าซธรรมชาติจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) นั้นปรับตัวสูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

      โดยราคาซื้อก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยในระหว่างปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ระดับประมาณ 473 บาทต่อล้านบีทียู (MMBTU) เพิ่มขึ้นประมาณ 78% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าขายเฉลี่ยอยู่ที่ 4.88 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (หน่วย) เพิ่มขึ้นเพียง 46% เท่านั้น โดยในปี 2565 ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.5518 บาทต่อหน่วย เป็น 0.3986 บาทต่อหน่วย ซึ่งส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ขายให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเพียง 16%

    นอกจากนี้ ในปี 2565 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในสวนอุตสาหกรรมศรีราชาได้รับผลกระทบจากการที่กิจกรรมภาคการผลิตลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปริมาณการขายไฟให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมในปี 2565 ลดลง 8.8% เหลือ 391 ล้านหน่วย ทั้งนี้ ความล่าช้าในการปรับค่า Ft และปริมาณขายไฟฟ้าที่ลดลงทำให้ EBITDA ของบริษัทในปี 2565 ลดลงเหลือ 383 ล้านบาท จาก 690-845 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2564

 

สถานะการเงินจะฟื้นตัว

การลดลงของผลกำไรจากไฟฟ้าที่ขายให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมส่งผลให้ผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมาก โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 7.9 เท่าจาก 2.9 เท่าในปี 2564 ในขณะที่ EBITDA Margin ลดลงเหลือ 6.7% ในปี 2565 จากประมาณ 15%-20% ในปี 2562-2564 

ทั้งนี้ ในกรณีพื้นฐานนั้น ทริสเรทติ้งประมาณการว่าส่วนต่างราคาระหว่างค่าไฟฟ้าขายกับต้นทุนเชื้อเพลิงจะกว้างขึ้น โดยคาดการณ์ว่าต้นทุนเชื้อเพลิงจะทยอยลดลงในขณะที่การปรับค่า Ft จะยังคงต้องชดเชยเงินอุดหนุนจำนวนมากที่เคยใช้บรรเทาผลกระทบจากค่าเชื้อเพลิงในช่วงปี 2564-2565

ด้วยเหตุนี้ ทริสเรทติ้งจึงคาดการณ์ว่า EBITDA ของบริษัทจะฟื้นกลับมาอยู่ในช่วง 750-850 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2566-2568 และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA จะลดลงมาอยู่ที่ 5.0-6.0 เท่าในปี 2566-2568

โครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ 45.0% ณ สิ้นปี 2565 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนในช่วงปี 2566-2568 รวม 2.5 พันล้านบาทโดยจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายเพื่อการซ่อมบำรุงประจำปี การลงทุนในโครงการ SPP Replacement และโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนหลังคา โดยค่าใช้จ่ายลงทุนเหล่านี้จะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 50%-55% ในปี 2566-2568

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 บริษัทมีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนรวมทั้งสิ้น 243 ล้านบาท คิดเป็น 5.8% ของหนี้สินทางการเงินรวม โดยประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันจำนวน 198 ล้านบาทและหนี้ของบริษัทย่อยที่ไม่มีหลักประกันจำนวน 45 ล้านบาท

 

มีสภาพคล่องที่เพียงพอ

    บริษัทมีภาพคล่องที่เพียงพอ โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2566 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.0 พันล้านบาท รวมทั้งวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 1.8 พันล้านบาท อีกทั้งทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 650-680 ล้านบาท

   ดังนั้น เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมทั้งเงินทุนจากการดำเนินงานจึงคาดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช่จ่ายลงทุนเพื่อการซ่อมบำรุงและการชำระหนี้สินทางการเงิน โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทจะมีหนี้สินระยะยาวที่ครบกำหนดชำระจำนวน 333 ล้านบาท และมีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนสำหรับการซ่อมบำรุงจำนวน 191 ล้านบาท

 

มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ RATCH

ทริสเรทติ้ง มองว่า SCG เป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อ RATCH โดย SCG เริ่มเป็นบริษัทย่อยของ RATCH ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 ปัจจุบัน RATCH มีสัดส่วนการถือหุ้น 52% ใน SCG ทั้งนี้ ในปี 2565 SCG ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินในเครือข่ายของ RATCH รวมถึงการแนะนำโอกาสทางธุรกิจกับกลุ่ม PRINC นอกจากนี้ บริษัทได้ปรับปรุงนโยบายทางการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายของ RATCH และ RATCH เองก็ได้แสดงเจตจำนงว่าจะให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทตามที่จำเป็น

RATCH ได้วางบทบาทของ SCG ให้เป็นแกนหลักในการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดกลางในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน RATCH ได้แต่งตั้งกลุ่มผู้บริหารระดับสูงซึ่งประกอบด้วย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ผู้บริหารสูงสุดด้านการเงิน และผู้บริหารสูงสุดด้านพัฒนาธุรกิจให้มาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริษัทของ SCG

นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการของ SCG ก็ได้รับการแต่งตั้งมาจาก RATCH เช่นกัน ทั้งนี้ RATCH ให้ความสำคัญต่อการเติบโตของ SCG และได้จัดตั้งสายงานพัฒนาธุรกิจขึ้นมาใหม่โดยมีทีมพัฒนาธุรกิจจาก RATCH เข้ามาปฏิบัติงาน โดยมีเป้าหมายการเติบโตคือการเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนอีกเท่าตัวให้เป็น 400 MW ภายในปี 2570

 

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. จะลดลงเหลือ 30 MW ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 จากปัจจุบันที่ 90 MW
  • ดัชนีการสั่งจ่ายไฟฟ้า (Dispatch Factor) ของโรงไฟฟ้า SPP อยู่ที่ประมาณ 80% สำหรับ กฟผ. และ 60% สำหรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม
  • ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าจากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 84 MW ภายในปี 2568
  • ดัชนีค่าความพร้อมของโรงไฟฟ้าอยู่ระหว่าง 90% และ 95% สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้ง 2 แห่ง
  • ค่าใช้จ่ายลงทุนรวม 2.5 พันล้านบาทในช่วงปี 2566-2568

 

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต ‘Stable’ หรือ ‘คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังรักษาผลการดำเนินงานในระดับที่น่าพึงพอใจต่อไปได้ และการเปลี่ยนผ่านเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ซึ่งมีกำลังการผลิตตามสัญญาที่ลดลงจะมีผลกระทบต่อบริษัทอย่างจำกัด นอกจากนี้ ทริสเรทติ้ง ยังคาดว่า ผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นจะคลี่คลายลงในช่วงปี 2566-2568 ตามการปรับค่า Ft ในช่วงเดียวกัน

 

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยที่จะทำให้อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มขึ้นนั้นยังมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า ในขณะที่การปรับลดอันดับเครดิตนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทมีผลการดำเนินงาน ต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การลงทุนด้วยการก่อหนี้เพิ่มจนส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงสร้างเงินทุนอาจเป็นเหตุของการปรับลดอันดับเครดิตได้เช่นกัน

อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอาจมีการเปลี่ยนแปลง หากอันดับเครดิตของ RATCH มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หรือระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับ RATCH เปลี่ยนแปลงไป

 

เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ, 7 กันยายน 2565

- เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตธุรกิจทั่วไป, 15 กรกฎาคม 2565

- อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและการปรับปรุงตัวเลขทางการเงินสำหรับธุรกิจทั่วไป, 11 มกราคม 2565

 

บริษัท สหโคเจน (ชลบุรี) จำกัด (มหาชน) (SCG)

อันดับเครดิตองค์กร:

A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

 

SCG259A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568

A

SCG299A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 550 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2572

A

SCG329A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2575

A

แนวโน้มอันดับเครดิต:

Stable

 

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com 

ติดต่อ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  โทร. 0-2098-3000 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

    © บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง

        ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

 

Click Donate Support Web  

kasat 720x100CKPower 720x100MTL 720x100TU720x100sme 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100pxPF 720x100

 

TOA 720x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!