สำนักงาน คปภ.ส่งท้ายโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุกสู่ระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน ลงพื้นที่ยกระดับประชาชนจังหวัดมุกดาหารเข้าถึงระบบประกันภัยในทุกมิติ
นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุกสู่ระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ.ผู้บริหารสมาคมประกันชีวิตไทย
และผู้บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย ลงพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร จัดโดยสำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) และสำนักงาน คปภ.จังหวัดมุกดาหาร โดยมีนายณรงค์ เทพรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ณ ห้องพลอย บอลรูม โรงแรมพลอยพาเลซ จังหวัดมุกดาหาร
รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางฯ เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีนโยบายในการส่งเสริมความรู้สร้างความเข้าใจให้ประชาชนทั่วประเทศ ตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยที่เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้น จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยเชิงรุกสู่ระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567
เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยในบริบทของพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง และครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 9 โดยได้เลือกจังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดสุดท้ายของการดำเนินโครงการฯ เนื่องจากเล็งเห็นว่าชาวจังหวัดมุกดาหาร มีทรัพยากรธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมที่งดงามอยู่ในที่เดียวกัน
รวมทั้งยังมีสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเศรษฐกิจทางตะวันตกและตะวันออกที่ช่วยสร้างความเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าจังหวัดมุกดาหาร มีประชากรอาศัยกว่า 350,000 คน มีสถิติการเกิดอุบัติบนท้องถนนอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัด ประกอบกับมีผู้ทำประกันภัยเพียง 85,000 คน ดังนั้น แสดงให้เห็นว่าชาวจังหวัดมุกดาหาร ยังมีการใช้ประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินอย่างจำกัด
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและยกระดับการเข้าถึงประกันภัยที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เช่น การประกันภัยอุบัติเหตุ การประกันภัยสุขภาพ การประกันภัย พ.ร.บ. และการประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย จึงได้จัดกิจกรรมการเสวนาในหัวข้อ 'อุบัติเหตุ บรรเทาได้ด้วยการประกันภัย' โดยมีคณะกรรมการและสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ในเขตพื้นที่ อำเภอเมืองมุกดาหาร และผู้แทนกองทุนหมู่บ้าน เข้าร่วมงานกว่า 100 คน
และได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานเครือข่ายร่วมออกบูธประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านการประกันภัย ได้แก่ สำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กองทุนประกันชีวิต สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินจังหวัดมุกดาหาร บริษัทประกันภัย ผู้ประกอบการ OTOP และหน่วยงานภาคีเครือข่าย รวม 19 บูธ
รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางฯ กล่าวด้วยว่า การประกันภัยเป็นเรื่องใกล้ตัวของประชาชนเพราะชีวิตมีความเสี่ยงตลอดเวลา ดังนั้น หากมีประกันภัยไว้ก็จะช่วยให้สามารถบริหารความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและครอบครัวได้ รวมไปถึงยังเป็นเครื่องมือของการออมในอนาคต ซึ่งจากสถิติพบว่าปัจจุบัน 100% ของประชาชนทั้งประเทศมีเพียง 10% เท่านั้น ที่หลังอายุ 60 ปี มีฐานะการเงินที่ดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน
ส่วนอีก 30% มีเงินออมต่ำกว่า 100,000 บาท และอีก 60% ของประชากรทั้งประเทศ ไม่มีเงินออม ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงมีมาตรการเชิงรุกในการขับเคลื่อนการส่งเสริมและปลูกฝังแนวคิดเรื่องการออมควบคู่กับการทำประกันภัย เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป