ต่างชาติลงทุนไทย 5 เดือน 317 ราย ขนเงินเข้า 7.1 หมื่นล้าน จ้างงาน 1,212 คน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยตัวเลขการลงทุนของคนต่างชาติในไทยช่วง 5 เดือนปี 67 มีจำนวน 317 ราย เพิ่มขึ้น 16% นำเงินเข้า 71,702 ล้านบาท เพิ่ม 58% จ้างงานคนไทย 1,212 คน ลด 60% ญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์ลงทุนสูงสุด ตามด้วยฮ่องกง จีน สิงคโปร์ สหรัฐฯ ส่วนการลงทุนใน EEC มีจำนวน 99 ราย เพิ่ม 106% มูลค่าลงทุน 18,224 ล้านบาท เพิ่ม 93% ญี่ปุ่นนำ ตามด้วยจีนและฮ่องกง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 317 ราย เพิ่มขึ้น 16% เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 85 ราย
และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 232 ราย มีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 71,702 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 58% และมีการจ้างงานคนไทย 1,212 คน ลดลง 60%
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น จำนวน 84 ราย คิดเป็น 26% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุนรวม 40,214 ล้านบาท โดยลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการผลิตคอมพาวด์ โพลิเมอร์ ธุรกิจบริการเคลือบผิว (Surface Treatment) ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบจัดการคลังสินค้า เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชุดเกียร์สำหรับยานพาหนะและชิ้นส่วนชุดเกียร์ / Air Compressor/ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และยานพาหนะ)
2.สิงคโปร์ จำนวน 51 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 5,189 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและซอฟต์แวร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การให้บริการติดตั้งเครื่องจักร และการแก้ไขปัญหา เพื่อลดการขัดข้องของเครื่องจักร เป็นต้น ธุรกิจโฆษณา
โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์ ธุรกิจบริการด้านการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมซอฟต์แวร์ (Software) ที่ใช้สำหรับจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย, และ/หรือ ให้บริการ เช่น ซอฟต์แวร์จัดการร้านอาหารและสั่งอาหาร เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (เครื่องใช้ไฟฟ้า/ ชิ้นส่วนยานพาหนะ/ แม่พิมพ์)
3.สหรัฐฯ จำนวน 50 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 1,196 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย/ เครื่องมือแพทย์/ เครื่องจักรที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม) ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบธุรกิจ เช่น การบริหารจัดการธุรกิจ, การบริหารทรัพยากรบุคคล และการจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (พวงมาลัยรถยนต์/ Drum Brake Assembly)
4.จีน จำนวน 38 ราย คิดเป็น 12% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 5,485 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ เช่น ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน) ธุรกิจการจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมเหล็กหรืออุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบเพื่อค้าส่งในประเทศ เป็นต้น
ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการเช่น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลจากการสนทนา ระบบตอบกลับสนทนาอัตโนมัติ เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (โฟมสำหรับยานพาหนะ/ โลหะหล่อขึ้นรูป/ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์ (Franchising) เพื่อประกอบธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม
5.ฮ่องกง จำนวน 28 ราย คิดเป็น 9% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 12,048 ล้านบาท ลงทุนในธุรกิจ เช่น ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป/ ฟิล์มไวแสง) ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (Software Platform) ซึ่งเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มกลางในการจัดการและเชื่อมโยงข้อมูลผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยว ธุรกิจบริการออกแบบทางวิศวกรรม ก่อสร้าง ติดตั้ง
ทดสอบการใช้งานระบบ การซ่อมแซม บำรุงรักษาแผงโซล่าเซลล์และอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แม่พิมพ์/ เลนส์ เลนส์สัมผัส (Contact Lens) กรอบแว่นตา แว่นตา/ ชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์) ธุรกิจบริการ Cloud Services โดยเป็นการให้บริการในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Infrastructure-AS-A-Service)
ทั้งนี้ การเข้ามาประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติในไทย มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและทักษะการทำงานขั้นสูงให้กับแรงงานไทย ซึ่งเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศที่เข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ระบบบริหารจัดการทรัพยากรทางการเงิน องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำการตลาดผ่านสื่อดิจิทัลรูปแบบใหม่ องค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการ Hybrid Cloud และ Multi Cloud รวมไปถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีควบคุมอุณหภูมิของเครื่องทำความเย็นที่ใช้ติดตั้งกับรถขนส่งขนาดเล็ก เป็นต้น
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนชาวต่างชาติในช่วง 5 เดือนของปี 2567 มีชาวต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 99 ราย คิดเป็น 31% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย เพิ่มขึ้น 106% และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 18,224 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 93% โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 31 ราย ลงทุน 3,523 ล้านบาท จีน 19 ราย ลงทุน 1,803 ล้านบาท ฮ่องกง 11 ราย ลงทุน 5,005 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 38 ราย ลงทุน 7,893 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น 1.ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับระบบต่างๆ ภายในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบทำน้ำเย็น และระบบปรับอากาศ เป็นต้น 2.ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย 3.ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชันสำหรับเชื่อมต่อกับระบบบริการชำระเงินผ่านบัตรเครดิตและเดบิตของผู้ให้บริการทางการเงิน 4.ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชุดเกียร์สำหรับยานพาหนะและชิ้นส่วนชุดเกียร์, ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนโลหะ เป็นต้น) 5.ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการ เช่น ระบบควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบจัดการคลังสินค้า เป็นต้น