ผู้ประกันตนอย่าลืม เช็กสิทธิประกันสังคม 'ทำฟัน' ก่อนหมดปี 67
นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน (สปส.) กล่าวเตือนผู้ประกันตนอย่าลืมไปใช้สิทธิกรณีทันตกรรม ก่อนหมดสิ้นปี 2567 สำนักงานประกันสังคม ให้สิทธิผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สามารถทำฟัน โดยการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูนและผ่าตัดฟันคุด ไม่ต้องสำรองจ่ายในสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม สามารถใช้สิทธิได้สูงสุด 900 บาทต่อคนต่อปี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ประกันตนที่พึงจะได้รับประจำปี 2567 สามารถขอรับบริการในสถานพยาบาลเอกชนและเครือข่าย หรือสถานพยาบาลของรัฐ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 นอกจากนี้การทำฟันประกันสังคมยังครอบคลุมถึงการใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วนหรือชนิดถอดได้ทั้งปาก ดังนี้
1. ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้บางส่วน ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
– จำนวน 1 – 5 ซี่ จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,300 บาท
– จำนวนมากกว่า 5 ซี่ จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท
2. ใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปาก ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ใส่ฟันเทียม ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
– ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนหรือล่าง จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 2,400 บาท
– ฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งปากบนและล่าง จ่ายเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 4,400 บาท
นางมารศรี กล่าวย้ำว่า สิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม 900 บาทต่อคนเป็นสิทธิปีต่อปี หากไม่ใช้สิทธิในปีนี้เท่ากับเสียโอกาสในการดูแลสุขภาพในช่องปาก ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่จะไปใช้สิทธิฯ สามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมกับสถานพยาบาล โดยสังเกตป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย
เลขาธิการ สปส. กล่าวในตอนท้ายว่า หากกรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนออนไลน์ E-Self Service ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th พร้อมแนบหลักฐาน ประกอบด้วยใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ และสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและเลขบัญชีของผู้ประกันตน หรือยื่นที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบเสร็จและใบรับรองแพทย์ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง