หลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ธุรกิจไทย-จีน รุ่นที่ 1 จัดบรรยายหัวข้อ คนรุ่นใหม่กับอนาคตการค้าไทย-จีน โดย ประธานฯ หอการค้าไทย-จีน
หลักสูตรผู้บริหารรุ่นใหม่ธุรกิจไทย-จีน รุ่นที่ 1 (Young Executive Program) ซึ่งจัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ร่วมกับหอการค้าไทย-จีน โดยมีรายการจับจ้องมองจีน และ China Media Group ร่วมสนับสนุนได้อบรมผู้เรียนในหัวข้อ คนรุ่นใหม่กับอนาคตการค้าไทย-จีน โดย นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ให้ความรู้ในประเด็นเกี่ยวกับ การค้าไทย-จีน ว่ามีบทบาทสำคัญต่อกันและกันในภาพรวมเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะเมื่อไทยเป็นส่วนหนึ่งของ ‘เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21’หรือ บีอาร์ไอ (BRI) ของจีน คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และเข้าใจบริบทโลกสมัยใหม่ จะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางในอนาคต
ด้วยพฤติกรรมการบริโภค เทคโนโลยี และแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่จะพัฒนาและยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศ และเสริมสร้างโอกาสทางการค้าไทย-จีนได้ในหลายมิติ
นายณรงค์ศักดิ์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทจีนในเศรษฐกิจว่า สำหรับบทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลก มีตัวชี้วัดที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจจีน เช่น ขนาดเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ การลงทุนและอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านขนาดเศรษฐกิจ การเพิ่มบทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลก เริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1978 ในยุคของ เติ้ง เสี่ยวผิง ด้วยนโยบาย ‘การปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศของจีน’เพื่อพลิกโฉมประเทศจีน เป็นชาติสังคมนิยมที่ทันสมัย
โดยการดำเนินโครงการสร้างความทันสมัยแก่ประเทศจีน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การทหาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาแต่ละด้านให้เจริญก้าวหน้าถึงระดับมาตรฐานโลกในปลายศตวรรษที่ 20
และการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ของจีนในปี ค.ศ. 2001 จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเปิดประเทศและเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน มีความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในด้านขนาดเศรษฐกิจ โครงสร้างการผลิต และการค้าระหว่างประเทศ จนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน
หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจจีนเมื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เมื่อปี ค.ศ. 2001 จีนมีขนาดเศรษฐกิจ เป็นอันดับ 6 ของโลก มีมูลค่าจีดีพีประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนขยายตัว อยู่ที่ประมาณ 7-8% ต่อปี ส่งผลให้จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่าจีดีพีถึง 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ / รองจากสหรัฐฯ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 ของโลก มีมูลค่าจีดีพี 28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปัจจุบันนี้
นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีน ยังมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าขนาดเศรษฐกิจของ 30 ประเทศในเอเชียรวมกัน ซึ่งมีมูลค่ารวม 16.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ขนาดเศรษฐกิจ 30 ประเทศในเอเชียรวมกัน น้อยกว่าขนาดเศรษฐกิจจีน 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ)
ส่วนด้านการค้าระหว่างประเทศ หากพิจารณาการส่งออกของจีน เมื่อปี ค.ศ. 2001 คิดเป็นประมาณ 20% ของ จีดีพี โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เสื้อผ้า ของเล่น และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีราคาถูกมากขึ้น เนื่องจากจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับต้นๆ ของสินค้าแรงงานที่ผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำ
แต่ในปี ค.ศ. 2024 การส่งออกของจีน คิดเป็นประมาณ 35% ของจีดีพี สินค้าส่งออกสำคัญ คือ อุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ และรถยนต์ไฟฟ้า จีนจึงกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก และมีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเสื้อผ้า
ประเทศจีนยังเป็นตลาดนำเข้าขนาดใหญ่ สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน เหล็ก และสินค้าเกษตรกรรม จากการที่จีนมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ที่มีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคผ่านช่องทางดิจิทัล ส่งผลให้การบริโภคสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการค้าระหว่างประเทศ
ด้านการลงทุนและอุตสาหกรรม เมื่อปี ค.ศ. 2001 จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนา และมีบทบาทในฐานะ ‘รงงานของโลก’มีการพึ่งพาตลาดส่งออกของประเทศตะวันตก แต่ในปัจจุบัน เศรษฐกิจจีน เปลี่ยนไปสู่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีและบริการ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และพลังงานสะอาด และการลงทุนของรัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) เพื่อเชื่อมต่อจีนกับประเทศต่างๆทั่วโลก
หากพูดถึงโครงการ Belt and Road Initiative ซึ่งครบรอบ 10 ปี เมื่อปี ค.ศ. 2023 มีประเทศต่างๆมากถึง 150 ประเทศ และกว่า 30 องค์การระหว่างประเทศที่ได้ลงนามความร่วมมือในโครงการบีอาร์ไอ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพสูงของ
โครงการในระยะที่ 2 ด้วยการบรรจุเป็น 1 ใน 8 แผนปฏิบัติการของจีน เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจโลก และไทย ยังคงเป็นส่วนสำคัญในโครงการนี้ โดยเฉพาะในฐานะศูนย์กลางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมไทย-ลาว-จีน ซึ่งจะเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค
นอกจากนี้ จีนยังเป็นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนอันดับต้นๆ ของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย ซึ่งส่วนมากเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่ EEC เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและยานยนต์ อุตสาหกรรมโลหะและวัสดุ พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมดิจิทัล เป็นต้น
สำหรับ บทบาทของจีนในเศรษฐกิจโลกนั้น จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดคือ นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเปิดประเทศของจีน ในปี ค.ศ. 1978 ทำให้จีนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ เข้าสู่ยุคที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเศรษฐกิจของจีนมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก
ซึ่งสอดคล้องกับรายงานจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ระบุว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีส่วนสนับสนุนต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม จีนยังต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐฯและประเทศตะวันตก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวถึงในด้านความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-จีน ถึงความสัมพันธ์ที่ยาวนาน และมีความผูกพันกันในหลายมิติ ส่วนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและจีน ในวาระครบรอบ 50 ปี ในปีนี้ ถือเป็นปีทองแห่งมิตรภาพ ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง ตลอดปี 2568 นี้
ประเทศจีนจึงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย มาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-พฤศจิกายน) การค้าระหว่างไทย-จีน มีมูลค่าการค้ารวม 105,623 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.94 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย
จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย (รองจากสหรัฐฯ) มีสัดส่วนร้อยละ 11.69 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย มีมูลค่า 32,240 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ 6 ประเภท ได้แก่ ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องคอมพิวเตอร์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ไม้ ยางพารา เป็นต้น
โดยสินค้าเกษตรกรรมของไทย ร้อยละ 40 ของการส่งออกทั้งหมดส่งไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นผลจากการที่จีนได้เปิดตลาดและขยายขอบเขตการนำเข้าผลไม้ และผลิตภัณฑ์อื่นๆของไทย จีนจึงเป็นแหล่งนำเข้า
อันดับ 1 ของไทย มีสัดส่วนร้อยละ 25.55 ของมูลค่าการนำเข้ารวมของไทย มีมูลค่า 73,382 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกล่าวได้ว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ของไทยเป็นการนำเข้ามาจากประเทศจีน) โดยโครงสร้างสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ หมวดสินค้าทุน 37% หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป 36% หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค 18% หมวดสินค้ายานยนต์และอุปกรณ์การขนส่ง ประมาณ 4%
นอกจากนี้ ไทย ยังมีรายได้จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งไม่ใช่ทัวร์ศูนย์เหรียญ และมีการใช้จ่าย 5-6 หมื่นบาทต่อคนต่อทริป โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจีน เดินทางเข้าประเทศไทย จำนวน 6,733,162 คน สร้างรายได้ กว่า 300,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนกว่า 17-18% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งหมด แต่รายได้จำนวนนี้ ไม่ได้สะท้อนถึงการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีน
การค้าระหว่างประเทศไทยและจีนนั้น ใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และการใช้ประโยชน์ภายใต้กรอบข้อตกลง RCEP ในการอำนวยความสะดวกทางการค้า ช่วยลดอุปสรรคทางภาษี ลดระยะเวลาในการดำเนินพิธีการศุลกากรสำหรับสินค้าบางรายการ และส่งเสริมการค้าระหว่างไทย-จีน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร (เช่น ยางพารา ทุเรียน และข้าวหอมมะลิ) สินค้าอาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทยไปยังจีน ซึ่งมีแนวโน้มที่ดียิ่งขึ้น
ในทางกลับกัน รัฐบาลจีนได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการส่งออกของมณฑลต่างๆ มายังอาเซียน และประเทศไทย โดยการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงอาร์เซป ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศของจีนกับอาเซียน ใน 6 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ในด้านความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศไทยและจีนนั้น มีหลายปัจจัยที่เป็นความท้าทาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยที่ถือว่าเป็นโอกาส เช่น การส่งเสริมความร่วมมือ BRI ร่วมกัน การส่งเสริมการรค้าระหว่างไทยและจีน และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนระหว่างไทยและจีน ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทย-จีน
นายณรงค์ศักดิ์ ได้กล่าวถึงบทบาทของนักธุรกิจรุ่นใหม่ในอนาคตการค้าไทย-จีน ว่าการที่ประเทศจีน เป็นตลาดที่มีคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ มีกำลังซื้อสูง และเป็นกลุ่มซื้อง่าย เพราะเป็นสังคมไร้เงินสดที่นิยมการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยและจีนก็ได้มีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ และสร้างการเชื่อมโยงผ่านเทคโนโลยีและการสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวก ทำให้ลดต้นทุนด้าน โลจิสติกส์ การค้าและการลงทุน ถือได้ว่าเป็นโอกาสของไทยในการขยายการค้าไปยังประเทศจีน
แต่ความท้าทายในการเข้าสู่ตลาดจีน
มีหลายประเด็น เช่น การแข่งขันในตลาดจีนที่เข้มข้นที่จีนประกาศใช้นโยบายยกเว้นภาษีศุลกากร แก่ประเทศกำลังพัฒนา จะทำให้ตลาดจีนมีการแข่งขันสูงยิ่งขึ้น, ความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม และการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและนโยบายของจีนที่เกิดขึ้นบ่อย
อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจรุ่นใหม่ของไทย มีศักยภาพสูงในการผลักดันการค้าไทย-จีนให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านมูลค่าการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ จากจุดเด่นของนักธุรกิจรุ่นใหม่ เช่น ความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ การสื่อสารและความเข้าใจวัฒนธรรม การสนับสนุนการค้าอย่างยั่งยืน การส่งเสริมสินค้าที่มีอัตลักษณ์ไทย การเข้าใจข้อกำหนดและกฎหมายของจีน และการพัฒนาเครือข่ายทางธุรกิจ ซึ่งสามารถขยายความได้ดังนี้
1 ความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ
นักธุรกิจรุ่นใหม่ มีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ เช่น e-Commerce แพลตฟอร์มออนไลน์ และ AI ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดจีนที่ใหญ่และมีศักยภาพสูง และสามารถเชื่อมโยงกับผู้บริโภคชาวจีนได้โดยตรง เช่น Tmall, JD.com, TikTok เป็นต้น
นอกจากนี้ การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพและเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ และการสร้างแบรนด์สินค้าที่มีอัตลักษณ์ไทย เช่น อาหารไทย, สินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อเจาะตลาดจีนที่มีอำนาจในการซื้อที่เพิ่มขึ้น และมีความต้องการสินค้าคุณภาพสูงและแตกต่าง จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าส่งออกของไทย
2 การสื่อสารและความเข้าใจนวัตกรรม
นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทางภาษาและความเข้าใจในวัฒนธรรมจีน สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งขึ้นระหว่างธุรกิจไทยและจีน การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพช่วยลดความเข้าใจผิดและสร้างความไว้วางใจในคู่ค้าระยะยาว
นอกจากนี้ นักธุรกิจรุ่นใหม่ สามารถนำมาตรการป้องกันการปลอมแปลงสินค้า หรือ สินค้าลอกเลียนแบบ มาใช้ อย่างเช่น ระบบคิวอาร์ โค้ด ตรวจสอบสินค้าของแท้แบบ 1 ชิ้นต่อ 1 รหัส ติดบนตัวสินค้า โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ด้วยการสแกนคิวอาร์ โค้ด ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ หรือพิจารณากรอกรหัสบนเว็บไซด์ของบริษัท เป็นต้น
3 การสนับสนุนการค้าอย่างยั่งยืน
นักธุรกิจรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จึงสามารถผลักดันสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงกับแนวโน้มความต้องการบริโภคชาวจีนในปัจจุบัน
4 การเข้าใจข้อกำหนดและกฎหมายของจีน
การค้าหรือการลงทุนกับจีน จำเป็นต้องศึกษาเรื่องภาษีศุลกากร และข้อกำหนดด้านมาตรฐานของสินค้าอย่างละเอียด รวมถึงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจีน เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบเพื่อไม่ให้สินค้าถูก
5 การส่งเสริมสินค้าที่มีอัตลักษณ์ไทย
นักธุรกิจรุ่นใหม่ ยังมุ่งเน้นการส่งออกสินค้าที่มีเอกลักษณ์ไทย เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าเกษตรแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากยางพารา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง และเครื่องประดับ เพื่อเจาะตลาดจีนที่มีอำนาจการซื้อเพิ่มขึ้น และมีความต้องการสินค้าคุณภาพสูงและแตกต่าง
6 การพัฒนาเครือข่ายทางธุรกิจ
นักธุรกิจไทยรุ่นใหม่ส่วนมาก ไม่มีข้อจำกัดในการสื่อสารทางภาษาและการใช้เทคโนโลยี จึงสามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับพันธมิตรในจีน ผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติทั้งในประเทศจีนและประเทศไทย; การเข้าร่วมประชุมสัมมนา เช่น การประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก
การประชุมสัมมนาทางเศรษฐกิจและโอกาสทางการค้าการลงทุนในประเทศจีน ตามที่จัดขึ้นโดยรัฐบาลของมณฑลต่างๆ หลังจากจบการบรรยาย ผู้อบรมกลุ่มกิเลนได้แบ่งปันประสบการณ์ให้ผู้เข้าอบรมท่านอื่นๆ ในด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของไทยและจีนต่อไป