ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้ง 1/2568
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ปรับลดพื้นที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ออกจากพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาบังคับใช้แทน
2. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งที่ 79 พร้อมทั้งร่างประกาศฯ รวม 2 ฉบับ ดังนี้
2.1 ร่างประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง
2.2 ร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ
3. รับทราบร่างประกาศ รวม 2 ฉบับ ดังนี้ 3.1 ร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรี กำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ 3.2 ร่างประกาศ เรื่อง ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
สาระสำคัญ
เรื่องที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอดังกล่าว มีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ให้ปรับลดพื้นที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ออกจากพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เนื่องจากอำเภอยะหา จังหวัดยะลา ได้รับการประเมินผล และได้ผ่านเกณฑ์การประเมินตัวชี้วัด ร้อยละ 80.78 ตามแผนการปรับลดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และแม้ห้วงเวลาที่ผ่านมา (วันที่ 20 ตุลาคม 2567 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2567) ไม่ปรากฏสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงเป็นระยะเวลานานพอสมควร แต่ยังคงปรากฏข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในเขตพื้นที่อยู่อย่างต่อเนื่อง และมีข่าวความเคลื่อนไหวในการเตรียมการก่อเหตุโจมตีฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการระวังป้องกันไม่เข้มแข็งหรือเป้าหมายที่มีความอ่อนแอในพื้นที่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาใช้ในพื้นที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถบริหารจัดการในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ที่รับผิดชอบให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ออกมารายงานตัวแสดงตน ร่วมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างแท้จริง 2. ให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส ยกเว้นอำเภอยี่งอ อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดปัตตานี ยกเว้นอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ และอำเภอแม่ลาน และจังหวัดยะลา ยกเว้นอำเภอเบตง อำเภอยะหา อำเภอรามัน อำเภอกาบัง และอำเภอกรงปินัง ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 19 มกราคม 2568 ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2568 เป็นครั้งที่ 79 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับยับยั้ง สถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากในห้วงเวลานี้ กลุ่มขบวนการยังคงมีศักยภาพในการปฏิบัติและมุ่งก่อเหตุเพื่อหล่อเลี้ยงสถานการณ์รวมถึงมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการปลุกระดมมวลชนเพื่อสร้างแนวร่วมรุ่นใหม่รวมทั้งยังคงสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนและทำลายระบบเศรษฐกิจเพื่อหวังผลทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาลตามยุทธศาสตร์การต่อสู้ของกระบวนการ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 13 มกราคม 2568
1242