BEM เปิดไตรมาสแรกสวยงามรับกำไรสุทธิ 847 ลบ. สูงจากปีก่อน 13% ปัจจัยบวกจากปริมาณผู้โดยสาร รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินโตต่อเนื่อง
BEM เผยผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2567 มีกำไรสุทธิ 847 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 13% ปัจจัยบวกจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ทั้ง 3 ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจระบบรางที่มีการเติบโตชัดเจนจากกิจกรรมรายรอบเส้นทางรถไฟฟ้า และการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดันผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีสถิติผู้โดยสารสูงสุดอยู่ที่ 559,600 เที่ยว ส่งผลรายได้หลักเพิ่มสูงขึ้นถึง 4,249 ล้านบาท
ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง กล่าวว่า ในไตรมาส1/ 2567 พบว่าปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าโดยสารจากการจัดกิจกรรมต่างๆ ตามสถานที่รอบเส้นทางรถไฟฟ้า รวมถึงผลบวกของการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางครอบคลุมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล จึงช่วยเพิ่มศักยภาพการส่งต่อผู้โดยสารเข้าสู่สายสีน้ำเงิน
“BEM มีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1/2567 จำนวน 847 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 98 ล้านบาท หรือ 13% ดันรายได้หลัก 3 ธุรกิจสูงขึ้นรวม 4,249 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 150 ล้านบาท หรือ 4% แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจทางพิเศษ จำนวน 2,299 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 23 ล้านบาท โดยปริมาณรถที่ใช้ทางพิเศษในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.12 ล้านเที่ยวต่อวัน
ส่วนธุรกิจระบบราง มีรายได้ 1,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 118 ล้านบาท ากปริมาณผู้โดยสารที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยผู้ใช้บริการในไตรมาสนี้เฉลี่ยทุกประเภทวันอยู่ที่ 430,900 เที่ยวต่อวัน และในวันทำการเฉลี่ยอยู่ที่ 482,600 เที่ยวต่อวัน โดยมีจำนวนผู้โดยสาร New High 559,600 เที่ยวเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันรายได้ของธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ มีจำนวน 264 ล้านบาท”
ทั้งนี้ BEM จะยังคงเดินหน้าดำเนินธุรกิจอย่างเข้มแข็ง ด้วยความพร้อมและความมุ่งมั่นในการส่งมอบการบริการคมนาคมขนส่งที่ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance : ESG) สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาองค์กรให้เติบโตมั่นคงอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน