หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov 23


รายงานผลการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

          คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการเดินทางเยือนกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ของรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารระดับสูง ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ 

          สาระสำคัญของเรื่อง

          พณ. รายงานว่า

          1. ญี่ปุ่นมีความสำคัญในฐานะคู่ค้าและเป็นนักลงทุนอันดับต้นๆ ของไทยในปี 2566 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย และถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพสำคัญของไทยในด้านการลงทุน โดยลงทุนสะสมในไทยมากเป็นอันดับ 1 การค้าระหว่างไทย – ญี่ปุ่น มีมูลค่า 55,860.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออก 24,669.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 0.05 เมื่อเทียบกับปี 2565) และการนำเข้า 31,191.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หดตัวร้อยละ 9.53 เมื่อเทียบกับปี 2565) โดยสินค้าส่งออกหลักไปญี่ปุ่น เช่น รถยนต์ และอุปกรณ์ส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าหลัก เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น

          2. รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรมฯ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของ พณ. ได้เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 9-12 พฤษภาคม 2567 เพื่อเข้าร่วมงานเทศกาลไทย ณ กรุงโตเกียว ครั้งที่ 24 (Thai Festival Tokyo 2024) และเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย ซึ่งมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

              2.1 การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยในประเทศญี่ปุ่น เพื่อขยายศักยภาพวัฒนธรรมไทยกระจายไปสู่ผู้บริโภคทั่วโลก โดยได้เป็นประธานเปิดงานเทศกาลไทย ครั้งที่ 24 ร่วมกับผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (นายมาซาฮิโระ โคมูระ) การจัดงานในครั้งนี้ประกอบด้วยคูหากว่า 80 คูหา เช่น คูหาผ้าไทยใส่ให้สนุก ที่นำผ้าไทยจากผู้นำเข้าญี่ปุ่นและผู้ประกอบการไทยมาจัดแสดง คูหาผลไม้ไทย และคูหาซีรีส์วาย เพื่อส่งเสริมและยกระดับสินค้าและบริการของไทยผ่านภาพยนตร์และรีส์วาย ทั้งนี้ งานเทศกาลไทย ณ กรุงโตเกียว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2567 มีผู้เข้าชมงานประมาณ 350,000 คนต่อวัน

              2.2 การขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าไทยทางออนไลน์พร้อมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถส่งออกได้ โดยเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับ Rakuten ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำของญี่ปุ่น ที่มียอดผู้ใช้งานเกิน 50 ล้านคนต่อเดือน เพื่อเปิดร้าน TOPTHAI และส่งเสริมการขายสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะเป็นการเร่งผลักดันผู้ประกอบการรายย่อย SMEs รายใหม่ ให้สามารถขยายตลาดไปยังประเทศญี่ปุ่นผ่านแพลตฟอร์ม Rakuten ได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยเพิ่มการรับรู้และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่น เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้มากขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้รวมกว่า 600 ล้านเยนหรือประมาณ 145 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสินค้าไทยที่ขายบนแพลตฟอร์ม Rakuten กว่า 2,000 รายการ สินค้าที่ได้รับความนิยม เช่น สินค้าอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูป สินค้าสปา ข้าวหอมมะลิ สินค้าสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

              2.3 การยกระดับการบูรณาการการทำงานระหว่างพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาและขยายช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสม โดยมีการหารือกับประธาน CEO ของห้าง MUJI เพื่อต่อยอดการเยือนญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับห้าง MUJI ทั้งในไทยและญี่ปุ่น ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและพาณิชย์จังหวัดได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการคัดเลือกสินค้าไทยไปจำหน่ายในสาขาของห้าง MUJI ซึ่งการร่วมมือกันในครั้งนี้ นับเป็นก้าวแรกที่บริษัทได้สนับสนุนนำสินค้าไทยที่มีศักยภาพจัดจำหน่ายผ่านร้าน MUJI และจะต่อยอดสู่การจำหน่ายในประเทศไทย ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ต่อไป รวมทั้งได้หารือกับผู้บริหารบริษัท KALDI (คาลดี้) ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกที่มีกว่า 270 สาขาในญี่ปุ่น โดยได้แนะนำสินค้าไทยที่มีศักยภาพไปจัดจำหน่ายในร้าน KALDI เพิ่มขึ้น เช่น กาแฟ ผลไม้ และสินค้าไทย

              2.4 การสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ต่อยอดธุรกิจด้วยพันธมิตร (Strategic Partnership) ได้หารือกับประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น – ไทย ภายใต้สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) และเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในธุรกิจสีเขียวโดยแจ้งว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สอดรับกับกฎกติกาใหม่ๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ใช้พลังงานสะอาด แต่ในการเปลี่ยนผ่านการผลิตรถยนต์จากรถเครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกันระหว่างไทย - ญี่ปุ่นจะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยบางส่วน ประมาณ 800 บริษัท จะต้องผันตัวไปสู่อุตสาหกรรมอื่นจึงได้ขอทางเคดันเรนช่วยเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รถไฟ อากาศยาน และ Automation Robotic ของญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดการร่วมลงทุนและการค้าระหว่างสองประเทศในด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อไป รวมทั้งขอให้ทางเคดันเรนช่วยผลักดันโครงการสีเขียวอื่นๆ ผ่านสมาชิกในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการแบ่งปันความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างสองประเทศด้วย ส่วนทางด้านเคดันเรนได้แจ้งว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นมองไทยเป็นฐานหลักในการทำธุรกิจ มีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจที่แน่นแฟันต่อกันมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นกว่า 5,800 บริษัท ทั้งภาคการผลิตไปจนถึงภาคบริการ ประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศไทย โดยไทยเป็น Supply Chain ระดับโลกและได้เชิญชวนให้รองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรมฯ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Trade and Economic Committee) ครั้งที่ 25 ในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ณ กรุงโตเกียวด้วย

          3. การเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นของรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรมฯ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับความร่วมมือด้านนวัตกรรมสินค้า/บริการ ซึ่งเป็นเป้าหมายผลักดันการส่งออกของไทย เกิดการขยายโอกาสทางการค้าในเชิงลึกและสานต่อความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ต่อยอดธุรกิจด้วยพันธมิตร (Strategic Partnership)

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 16 กรกฎาคม 2567

 

 

7517

Click Donate Support Web 

SME720x100 2024

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100 

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!