การรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นํายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 10
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นํายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 10 (Vientiane Declaration of the 10th Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) (ร่างปฏิญญาเวียงจันทร์ฯ) ทั้งนี้ หากมีความจําเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสําคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของราชอาณาจักรไทย ให้ กต. ดําเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
2. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมให้การรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ ตามที่ประเทศสมาชิกมีฉันทามติ ในการประชุมผู้นํา ACMECS ครั้งที่ 10
สาระสำคัญ
ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ของการประชุมผู้นํายุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 10 (ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ) ซึ่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประธานของ ACMECS มีกําหนดจัดการประชุมผู้นํา ACMECS ครั้งที่ 10 ภายใต้หัวข้อ “มุ่งสู่ความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อเพื่อการรวมตัวของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งต่อเนื่องกับการประชุมสุดยอดผู้นําแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Subregion: GMS) ครั้งที่ 8 โดยจะมีการรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ เพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์การประชุมดังกล่าว โดยมีสาระสําคัญ เช่น (1) สนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก ACMECS (2) ยินดีต่อความสําเร็จของการจัดตั้งสํานักงานเลขาธิการชั่วคราว ACMECS ณ กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศไทย (3) การขยายระยะเวลาดําเนินการของแผนแม่บท ACMECS (ค.ศ. 2019 - 2023) (4) การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นํา ACMECS ครั้งที่ 11 ในปี ค.ศ. 2026 ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่ง กต. และสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 1778 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ประโยชน์ที่จะได้รับ: การรับรองร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ สอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา รวมถึงเน้นย้ำบทบาทหลักของไทย ในการผลักดันประเด็นต่างๆ ที่ตอบสนองต่อความท้าทายในปัจจุบันของอนุภูมิภาคฯ และสนับสนุนความเข้มแข็งของอาเซียน โดยเฉพาะความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมขนส่ง และความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และประเด็นความท้าทายรูปแบบใหม่อื่นๆ เช่น ประเด็นปัญหาข้ามพรมแดน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในอนุภูมิภาค
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 5 พฤศจิกายน 2567
11125