ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์บน เหนือพื้นดินหรือพื้นน้ำในกิจการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์บน เหนือพื้นดินหรือพื้นน้ำในกิจการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
2. ให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า
1. ในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าของ รฟม. มีความจำเป็นต้องเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของประชาชนที่อยู่ในแนวสายทางรถไฟฟ้า เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟฟ้าที่อยู่บน เหนือพื้นดินหรือพื้นน้ำ แต่ในระยะหลังเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้มีการร้องขอให้ รฟม. พิจารณากำหนดภาระในอสังหาริมทรัพย์แทนการเวนคืน ในกรณีที่ รฟม. เข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งส่งผลให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นสามารถใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ได้ลดน้อยลงจากปกติ แต่ไม่ถึงขนาดที่จะต้องมีการเวนคืนเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด เช่น ทางวิ่งของรถไฟฟ้าพาดผ่านบริเวณเหนือที่ดินบางส่วน โดยเจ้าของยังสามารถใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ได้แต่ไม่สามารถใช้สอยได้ตามปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและประหยัดงบประมาณจากการที่จะต้องจ่ายค่าทดแทนจากการเวนคืน
2. โดยที่มาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน พ.ศ. 2540 กำหนดให้หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนนั้นให้เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนดซึ่งปัจจุบันมีเพียงกฎกระทรวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 ออกตามความในพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์ฯ ที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์ใต้พื้นดินเท่านั้น แต่ยังไม่มีกฎกระทรวงที่กำหนดเงินทดแทนกรณีที่มีการก่อภาระในอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่บน เหนือพื้นดินหรือพื้นน้ำเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์บน เหนือพื้นดินหรือพื้นน้ำแต่อย่างใด ทำให้ รฟม. ไม่สามารถพิจารณากำหนดค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณดังกล่าวให้แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ คค. จึงเห็นควรให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและเพื่อให้ประชาชนได้รับค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์แทนการเวนคืนที่ดินในจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งคณะกรรมการ รฟม. มีมติ (ประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าวและให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ รฟม. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ฯ เพื่อให้ รฟม. เข้าใช้ที่ดินได้ก่อน และเมื่อมีกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว รฟม. จะดำเนินการกำหนดเงินค่าทดแทนต่อไป
3. รฟม. ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2566 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2566 (รวม 14 วัน) รวมทั้งได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายและรายงานสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์ บน เหนือพื้นดินหรือพื้นน้ำ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
หมายเหตุ |
||
1. คณะกรรมการ |
มีหน้าที่ในการกำหนดจำนวนเงินค่าทดแทน |
ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน |
||
2. ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนดให้พิจารณากำหนดค่าทดแทนภาระในอสังหาริมทรัพย์แทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ |
อสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถใช้สอยได้น้อยลงจากปกติ และภาระในอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่มีลักษณะตาม ข้อ 5 |
เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอาจร้องขอต่อ รฟม. ให้ดำเนินการจัดซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ |
||
3. หลักเกณฑ์การพิจารณาราคาที่ดินที่จะนำมากำหนดค่าทดแทน |
ให้คณะกรรมการคำนึงถึงราคา ขนาด ที่ตั้ง สภาพและลักษณะการใช้ประโยชน์ประกอบกัน ดังนี้ 1) ราคาซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด ณ วันที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทน 2) ราคาประเมินที่ดินของทางราชการที่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3) ขนาด ที่ตั้ง สภาพและลักษณะการใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ และ 4) สภาพการใช้ที่ดินในบริเวณใกล้เคียงกับที่ดินนั้น |
รายละเอียดหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นไปตามร่างข้อ 5 ถึงข้อ 8 |
||
4. ราคาค่าที่ดิน |
เมื่อทราบราคาที่ดินให้ถือว่าสภาพและลักษณะภาระอันพึงมีแก่อสังหาริมทรัพย์ผลประโยชน์และความเสียหายอยู่ในเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนให้ได้ร้อยละ 75 ของราคาที่ดิน |
- |
||
5. ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องพิจารณากำหนดค่าทดแทน |
อสังหาริมทรัพย์ที่มีภาระในอสังหาริมทรัพย์น้อยจนถือว่าไม่ทำให้การใช้สอยของเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายลดน้อยลง โดยต้องมีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้ 1. อยู่ในเขตที่ดินที่ต้องห้ามหรือข้อจำกัดการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคารบางประเภทตามกฎหมาย หรือกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชนมีผลใช้บังคับ 2. สิ่งก่อสร้างของ รฟม. ยกระดับพาดผ่านไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งปลูกสร้างลงในที่ดินนั้นประกอบกับสิ่งก่อสร้างนั้นต้องมีความสูงมากกว่า 13 เมตร และมีความสูงมากกว่าระดับที่บุคคลใดจะก่อสร้างในที่ดินนั้นได้ไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร และ 3. สิ่งก่อสร้างและข้อห้ามของ รฟม. ต้องไม่กระทบสิทธิการใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นที่บุคคลใดจะพึงมีโดยปกติสุขและชอบด้วยกฎหมายในวันที่พระราชกฤษฎีกาตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ |
- กรณีนอกเหนือจากที่ได้กำหนดไว้นี้ให้คณะกรรมการพิจารณาเป็นรายกรณีไป - กรณีที่อสังหาริมทรัพย์นั้นอยู่ในเกณฑ์ได้รับค่าทดแทนแต่มีบางส่วนไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับค่าทดแทน เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถร้องขอให้ รฟม. จัดซื้อหรือเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ทั้ง 2 ส่วนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ |
||
6. การกำหนดค่าทดแทนในกรณีอื่น |
ลักษณะภาระในอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ต้องแก้ไขปรับปรุงอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ ในที่ดิน หรือทำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายต้องหยุดกิจกรรมใดๆ เป็นการชั่วคราว เนื่องจากการแก้ไขปรับปรุงหรือต้องย้ายออกจากอสังหาริมทรัพย์ในระหว่างการแก้ไขปรับปรุง ให้คณะกรรมการกำหนดเงินค่าทดแทนเฉพาะที่ได้เสียหายจริง |
การขอรับเงินทดแทนให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายแสดงหลักฐานการสูญเสียรายได้ต่อคณะกรรมการตามระเบียบที่ รฟม. กำหนด |
||
7. หลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดค่าทดแทนในกรณีที่มีการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นการชั่วคราว |
ให้กำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึงอัตราค่าเช่าที่ดินนั้น หรืออัตราค่าเช่าที่ดินในบริเวณใกล้เคียง และกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชนฯ ด้วย |
รฟม. เข้าใช้เพื่อเตรียมก่อสร้างหรือดำเนินการสร้าง ขยาย ปรับปรุง หรือบำรุงรักษากิจการขนส่งมวลชน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 23 เมษายน 2567
4722