โครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 (โครงการฯ) วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 29,980.17 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยในส่วนของแหล่งเงิน/งบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญ
คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 มีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 (โครงการฯ) และมอบหมายให้ กษ. โดยกรมการข้าว จัดทำข้อมูลเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการฯ และงบประมาณต่อไป ซึ่งโครงการดังกล่าวช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามความต้องการของเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม โดยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในลักษณะ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เข้มแข็งและเกิดความยั่งยืนและลดภาระการเงินการคลังของประเทศ โดยมีรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|||||||||||||||||
วัตถุประสงค์ |
(1) เพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตในการลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 (2) เพิ่มผลผลิตข้าวด้วยการใช้ปุ๋ยและสารชีวภัณฑ์ในนาข้าวในสูตรและอัตราที่เหมาะสมตามนิเวศน์และสภาพพื้นที่ สร้างเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้ปัจจัยการผลิตข้าวอย่างมีประสิทธิภาพ (3) สนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เป็น 3 เท่าในระยะเวลา 4 ปี |
|||||||||||||||||
กลุ่มเป้าหมาย |
เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน (เกษตรกรที่ปลูกข้าวทั่วไปประมาณ 4.48 ล้านครัวเรือน พื้นที่ 54 ล้านไร่ และเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ประมาณ 2 แสนครัวเรือน พื้นที่ 1.20 ล้านไร่) ทั้งนี้ ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ |
|||||||||||||||||
ระยะเวลาดำเนินโครงการฯ |
ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 – 31 พฤษภาคม 2568 |
|||||||||||||||||
วิธีการดำเนินการและเงื่อนไขโครงการฯ |
(1) สนับสนุนปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และชีวภัณฑ์ในราคาครึ่งหนึ่ง (เกษตรกรชำระเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ครึ่งหนึ่ง และรัฐบาลสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์อีกครึ่งหนึ่ง) ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 10,000 บาท ตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง รวมมูลค่าปุ๋ยไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ ปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นปุ๋ยที่ได้รับการขึ้นทะเบียน หรือหนังสือสำคัญรับแจ้งถูกต้องตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และชีวภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (2) เกษตรกร 1 ครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกหลายพื้นที่ ใช้สิทธิ์รวมได้ ไม่เกิน 20 ไร่ และไม่ซ้ำซ้อน ตามที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 กับกรมส่งเสริมการเกษตร (3) เกษตรกรต้องนำไปใช้จริง ห้ามนำไปจำหน่าย แจกจ่ายให้บุคคลอื่น (4) สหกรณ์การเกษตรต้องส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยหากเกษตรกรยังไม่ได้รับปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ธ.ก.ส. จะคืนเงินที่เกษตรกรชำระทั้งหมดให้เกษตรกร |
|||||||||||||||||
ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการฯ |
(1) กรมส่งเสริมการเกษตรขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 (2) กรมการข้าวประกาศรับสมัครคัดเลือกผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในประเทศ ทำข้อตกลงกับผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์จำหน่ายแต่ละสูตรปุ๋ย ราคาเดียวกัน ไม่เกินราคาควบคุม ราคาจำหน่ายชีวภัณฑ์ตามราคาควบคุมและกรมการข้าว โดยคณะทำงานกำหนดราคาควบคุมปุ๋ยและชีวภัณฑ์ของโครงการฯ เป็นผู้พิจารณาราคาปุ๋ย โดยอ้างอิงจากราคาท้องตลาดราคาหน้าโรงงาน และราคาขายปลีก (3) กรมส่งเสริมสหกรณ์รับสมัครคัดเลือกสหกรณ์การเกษตรเข้าร่วมโครงการฯ (4) สหกรณ์การเกษตรเลือกผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่กรมการข้าวคัดเลือกไว้ให้เป็นผู้จัดหาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ (5) ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว พัฒนาระบบข้อมูลโครงการ Application (6) เกษตรกรผู้ปลูกข้าวขอใช้สิทธิตามระบบข้อมูลโครงการฯ ผ่าน Application ของ ธ.ก.ส. (7) เกษตรกรชำระเงินสมทบค่าปุ๋ยและวภัณฑ์ตามที่แจ้งความประสงค์ (8) สหกรณ์การเกษตรตรวจสอบการใช้สิทธิผ่าน Application เพื่อดูข้อมูลความต้องการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ปริมาณ สูตร และวัน เวลาการรับปุ๋ยและชีวภัณฑ์และแจ้งผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ (9) ผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ส่งปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้สหกรณ์การเกษตรเพื่อให้สหกรณ์การเกษตรส่งต่อปุ๋ยและชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ณ สถานที่ และเวลาตามแผนการส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์ (10) กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบคุณภาพปุ๋ยและชีวภัณฑ์ตามโครงการของแต่ละผู้ประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการ (11) เกษตรกรผู้ปลูกข้าวรับปุ๋ยและชีวภัณฑ์ ณ จุดส่งมอบ ภายในระยะเวลาตามแผนส่งมอบปุ๋ยและชีวภัณฑ์ (12) สหกรณ์การเกษตรสรุปข้อมูลการกระจายปุ๋ยและชีวภัณฑ์ของเกษตรกรผ่านระบบ และตรวจสอบวงเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์แจ้ง ธ.ก.ส. (13) ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้สหกรณ์การเกษตร และสหกรณ์การเกษตรจ่ายเงินให้ผู้ประกอบกิจการปุ๋ยและชีวภัณฑ์ |
|||||||||||||||||
ปุ๋ยที่ขึ้นทะเบียนสำหรับนาข้าวภายใต้โครงการฯ |
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เลือกรับการสนับสนุนปุ๋ยที่ขึ้นทะเบียนสำหรับนาข้าวจำนวน 16 รายการ ดังนี้ (1) ปุ๋ยสูตร 25-7-14 (2) ปุ๋ยสูตร 20-8-20 (3) ปุ๋ยสูตร 20-10-12 (4) ปุ๋ยสูตร 30-3-3 (5) ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 (6) ปุ๋ยสูตร 18-12-6 (7) ปุ๋ยสูตร 16-8-8 (8) ปุ๋ยสูตร 16-12-8 (9) ปุ๋ยสูตร 16-16-8 (10) ปุ๋ยสูตร 16-20-0 (11) ปุ๋ยสูตร 20-20-0 (12) ปุ๋ยสูตร 15-15-15 (13) ปุ๋ยสูตร 16-16-16 (14) ปุ๋ยสูตร 13-13-24 (15) ปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม หรือ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ (16) ชีวภัณฑ์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย |
|||||||||||||||||
กรอบวงเงินงบประมาณ |
รวมทั้งสิ้น 29,980.17 ล้านบาท แบ่งเป็น
|
|||||||||||||||||
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ |
(1) เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ร้อยละ 10 ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และมีอำนาจในการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเกษตรกรและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (2) เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน สามารถเข้าถึงปุ๋ยคุณภาพในราคาถูก สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และยกระดับคุณภาพข้าว เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด (3) การใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดการหมุนเวียน และสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว (โครงการไร่ละ 1,000 บาท) ได้ถึงปีละ 24,320 ล้านบาท (เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีละ 54,300 ล้านบาท – 29,980 ล้านบาท) |
ทั้งนี้ สำนักงบประมาณมีความเห็นว่า สำหรับแหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 29,518.0200 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรอบวงเงินที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐ ตามนัยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เห็นสมควรให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยคำนึงถึงขอบเขตที่รัฐสามารถรับภาระได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะต้องไม่เกินสัดส่วนตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ตามนัยมาตรา 28 โดยมีข้อสังเกตว่าค่าบริหารโครงการ ร้อยละ 2 เป็นเวลา 3 เดือน ที่ผ่านมาไม่มีการชดเชยค่าบริหารโครงการในลักษณะดังกล่าว สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณนั้นให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและเเผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินงานจริง ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ดีการชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. ในอัตราชดเชยต้นทุนเงินถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้าบวกค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้านั้น ในการดำเนินโครงการตามมาตรการที่ผ่านมา รัฐบาลจะรับภาระชดเชยอัตราต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. ในอัตราต้นทุนทางการเงินของ ธ.ก.ส. ประจำไตรมาส บวก 1 โดยให้มีการปรับเปลี่ยนอัตราต้นทุนทางการเงินตามอัตราที่แท้จริงทุกไตรมาส ซึ่งยังคงอยู่ในสัดส่วนที่รัฐบาลสามารถรับภาระได้ รวมถึงมีการใช้อัตราต้นทุนทางการเงินดังกล่าวกับมาตรการ/โครงการที่มีลักษณะการดำเนินการรูปแบบเดียวกัน จึงเห็นสมควรให้คงหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการชดเชยอัตราต้นทุนทางการเงินที่ต้องขอรับชดเชยจากภาครัฐเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
สำหรับแหล่งเงินในส่วนที่เหลือของโครงการ จำนวน 462.1495 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการจัดหาปุ๋ยและชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวและส่งมอบให้เกษตรกรที่จะเสนอขอใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เนื่องจากมีกิจกรรมที่เป็นภารกิจปกติของแต่ละหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือโอนเงินจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร แล้วแต่กรณี ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 มาดำเนินการเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วยังคงมีความจำเป็นต้องขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ขอให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการฯ จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ และดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ. 2562 ตามชั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
________________________
1 กษ. แจ้งว่า จะดำเนินโครงการฯ โดยใช้ Application “BAAC” ของ ธ.ก.ส.
2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 คืน ธ.ก.ส. กรณีชำระเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี ให้ใช้ต้นทุนถัวเฉลี่ยบวกค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน บวกต้นทุนตามระยะเวลา ซึ่งคำนวณจากต้นทุนเงินส่วนเพิ่มการออกพันธบัตรที่ กค. ไม่ค้ำประกันในแต่ละช่วงอายุ ตามที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการ และให้นำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการปรับตัวชี้วัดทางการเงินที่เกี่ยวข้องตามบันทึกข้อตกลงประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจและแยกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานปกติภายใต้ระบบบัญชีธุรกรรมนโยบายรัฐ (Public Service Account: PSA)
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน (นายกรัฐมนตรี) 25 มิถุนายน 2567
6793