ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินมาก่อนการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินมาก่อนการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินมาก่อนการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน พ.ศ. .... มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนกรณีขาดประโยชน์ในการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และค่าชดเชยความเสียหายกรณีเสียโอกาสในการประกอบกิจการเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้
1.1 การใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
1.2 พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้แก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินเกินกว่ามาตรฐานที่กฎหมายเฉพาะกำหนด
1.3 การขาดประโยชน์ในการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือการเสียโอกาสใน
การประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้นยกเว้นกรณีที่กฎหมายเฉพาะเรื่องนั้นๆ ได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้มีเกณฑ์มาตรฐานเข้มงวดเพิ่มขึ้นและกำหนดเป็นภาระที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้นต้องรับผิดชอบเอง
2. กำหนดให้ค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายตามความเป็นจริงโดยคำนึงถึงความเป็นธรรม ดังนี้
2.1 ค่าทดแทนให้จ่ายจากค่าใช้จ่ายในการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเฉพาะที่เกินกว่าค่าทดแทนตามที่กฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ เช่น กรณีการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างให้คำนวณจากการรื้อถอน ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการก่อนสร้าง ฯลฯ โดยให้ดำเนินการตามวิธีการที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ สำหรับค่าธรรมเนียมขออนุญาตรื้อถอนและปลูกสร้างค่าป้องกันอุบัติภัย และค่าใช้จ่ายอื่น ให้จ่ายได้ไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง ค่าเสียสิทธิในการประกอบกิจการให้คำนวณจากกำไรสุทธิของการประกอบกิจการตลอดทั้งปีที่ล่วงมาแล้วมาคำนวณเป็นรายวัน โดยให้จ่ายตามกำหนดระยะเวลาที่หยุดประกอบกิจการชั่วคราว
2.2 ค่าชดเชยความเสียหายให้จ่ายจากการถูกสั่งให้ระงับการใช้ประโยชน์รื้อที่ดิน เช่น กรณีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ถูกสั่งให้ระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยมีการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างให้คำนวณจากค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ฯลฯ โดยให้ดำเนินการตามวิธีการที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารวัสดุภาครัฐ และค่าใช้จ่ายอื่น ให้จ่ายได้ไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง หรือกรณีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่ถูกสั่งให้ระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยไม่มีการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างให้คำนวณตามอัตราค่าเสื่อมอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์ค่าเสียโอกาสในการประกอบกิจการให้คำนวณจากกำไรสุทธิของการประกอบกิจการตลอดทั้งปีที่ล่วงมาแล้วคำนวณเป็นรายวัน โดยให้จ่ายเป็นจำนวน 180 วัน
การออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้เป็นการออกกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาตรา 75 วรรคสาม เป็นการกำหนดค่าทดแทนและค่าชดเชยตามมาตรา 75 วรรคสอง ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 22 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 สำหรับกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้นับแต่เมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ (นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564) ซึ่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำฯ เป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายฯ ใช้บังคับ (ก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562) มท. จึงต้องดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี ดังนั้น มท. จึงต้องดำเนินการออกกฎกระทรวงในเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 12 พฤศจิกายน 2567
11334