หมวดหมู่: บริษัทจดทะเบียน

TRIS4


ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 'บ.น้ำตาลขอนแก่น' ที่ 'A'ด้วยแนวโน้ม Stable

 

     ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ ‘A’ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ยาวนานในฐานะที่บริษัทเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศไทย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากวัฏจักรราคาน้ำตาล และความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อย รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และกัมพูชา ตลอดจนภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง

      บริษัทน้ำตาลขอนแก่นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในประเทศไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยครอบครัวตระกูลชินธรรมมิตร์และกลุ่มพันธมิตร ณ เดือนเมษายน 2560 ตระกูลชินธรรมมิตร์ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วนรวม 68% ของหุ้นทั้งหมด บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศไทย โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม ณ เดือนพฤษภาคม 2560 เท่ากับ 110,000 ตันอ้อยต่อวัน ทั้งนี้ กลุ่มน้ำตาลขอนแก่นสามารถหีบอ้อยได้ 6.8 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2559/2560 และผลิตน้ำตาลได้ 724,549 ตัน ซึ่งส่งผลให้บริษัทเป็นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 7.2% โดยเป็นรองกลุ่มมิตรผลซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 19.7% กลุ่มไทยรุ่งเรืองซึ่งมีส่วนแบ่ง 14.1% และกลุ่มไทยเอกลักษณ์ซึ่งมีส่วนแบ่ง 9.4%

       ตั้งแต่ปีการเงิน 2549 บริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอล ทั้งนี้ ในช่วงปีการเงิน 2559 รายได้จากธุรกิจพลังงาน (ไฟฟ้าและเอทานอล) คิดเป็นสัดส่วน 17% ของรายได้รวมของบริษัท

        ราคาน้ำตาลทรายลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยราคาน้ำตาลอ้างอิงจากราคาขายตามสัญญาที่ บริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายนั้นลดลงจาก 18.4 เซนต์ต่อปอนด์ในปีการผลิต 2556/2557 มาอยู่ที่ 15.4 เซนต์ต่อปอนด์ในปีการผลิต 2558/2559 นอกจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงแล้ว สภาพอากาศที่แห้งแล้งในประเทศไทยยังส่งผลทำให้ปริมาณอ้อยเข้าหีบของบริษัทลดลงด้วย ทั้งนี้ บริษัทมีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 7.61 ล้านตัน ในปีการผลิต 2558/2559 ลดลงจาก 8.47 ล้านตันในปีการผลิต 2556/2557 ราคาขายเอทานอลและอัตราค่ารับซื้อไฟฟ้า (Tariff) รวมถึงค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่ปรับตัวลดลงก็ส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2558 และปี 2559 อ่อนตัวลงด้วยเช่นกัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทลดลงเป็น 13.9% ในปีการเงิน 2558 และ 12.9% ในปีการเงิน 2559 จาก 18.3% ในปีการเงิน 2557 ส่งผลให้บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงตามลำดับจาก 3,879 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 2,473 ล้านบาทในปี 2559 เงินทุนจากการดำเนินงานก็ลดลงจาก 2,916 ล้านบาทเป็น 1,381 ล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว

       ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2560 บริษัทมีรายได้ลดลงเป็น 7,533 ล้านบาท หรือลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 24.1% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2560 จาก 21.3% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีการเงิน 2559 เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยของน้ำตาลเพิ่มขึ้น บริษัทและผู้ผลิตน้ำตาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีการทำสัญญาขายน้ำตาลล่วงหน้าในช่วงที่ราคาน้ำตาลอยู่ในระดับสูง การปรับตัวที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจน้ำตาลช่วยชดเชยความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธุรกิจพลังงานของบริษัทที่ยังอ่อนตัวลง นอกจากนี้ ราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นยังส่งผลทำให้บริษัทมีกำไรเล็กน้อยเป็นครั้งแรกจากธุรกิจที่ดำเนินงานใน สปป. ลาว และกัมพูชาในช่วงครึ่งแรกของปีการเงิน 2560 อีกด้วย EBITDA รวมของบริษัทจึงเพิ่มขึ้นจาก 1,701 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปีการเงิน 2559 เป็น 2,368 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 39% ในช่วงเวลาเดียวกันในปีการเงิน 2560

       ภาระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 53.1% ณ สิ้นปีการเงิน 2559 จากระดับ 58.1%-59.8% ในช่วงปีการเงิน 2556-2559 การปรับตัวดีขึ้นของอัตราการก่อหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากกำไรจากการประเมินราคาสินทรัพย์และการเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีของ บริษัท ไทยชูการ์ เทอร์มิเนิ้ล จำกัด (มหาชน) จากงบการเงินรวมมาเป็นส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวลดลงตามวัฏจักรราคาน้ำตาล ในช่วงที่ผ่านมาอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทเท่ากับ 3.48 เท่าในปีการเงิน 2559 จาก 3.61 เท่าในปีการเงิน 2558 และ 4.65 เท่าในปีการเงิน 2557 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทเท่ากับ 7.3% ในปีการเงินประมาณ 2559 เมื่อเทียบกับระดับ 9.1% ในปีการเงินประมาณ 2558 และ 13.2% ในปีการเงินประมาณ 2557

        ในเดือนกรกฎาคม 2560 บริษัทได้ประกาศการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บีบีพี โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยทั้ง 2 บริษัทนี้จะรวมเป็นบริษัทใหม่ที่ดำเนินธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยบริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่นจะถือหุ้น 60% ในบริษัทใหม่และบริษัทจะเป็นผู้ถือหุ้นในส่วนที่เหลือ 40% การควบรวมกิจการในครั้งนี้จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่บริษัทใหม่ เนื่องจากบริษัทใหม่จะกลายมาเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ บริษัทใหม่ดังกล่าวจะมีกำไรที่ผันผวนน้อยลงจากการที่สามารถใช้วัตถุดิบหลักคือทั้งกากน้ำตาลและมันสำปะหลังในการผลิตเอทานอล

      ในขณะที่ยังมีกำไรจากการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์มอีกด้วย คาดว่าการควบรวมกิจการจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 และบริษัทใหม่มีแผนจะเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่นักลงทุนทั่วไปในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560 ถึงเดือนตุลาคม 2561 ทั้งนี้ ภายหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้วบริษัทใหม่จะสามารถระดมทุนได้ด้วยตนเองเพื่อขยายธุรกิจต่อไป การควบรวมกิจการดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อระดับหนี้ของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทจะมีกำไรจากการขายกิจการของบริษัท เคเอสแอล กรีน อินโนเวชั่นและเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีของบริษัทลูกดังกล่าวจากงบการเงินรวมมาเป็นส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย

       การแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายที่กำลังดำเนินอยู่ได้สร้างความไม่แน่นอนในการดำเนินงานให้แก่ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศ ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ของไทยได้อนุมัติในหลักการให้มีการยกเลิกระบบโควต้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศจะไม่เป็นราคาคงที่อีกต่อไป คณะทำงานยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณากำหนดรายละเอียดการดำเนินการ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบดังกล่าวจึงยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปในเวลานี้

      คาดการณ์ว่าผลประกอบการทางการเงินของบริษัทในปีการเงิน 2560 จะยังอยู่ภายใต้ความกดดันจากปริมาณอ้อยที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะภัยแล้งซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ตามสมมติฐานของทริสเรทติ้ง เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 1,500 ล้านบาทในปีงบการเงิน 2560 และจะค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านบาทในปีการเงิน 2561 และเป็น 2,500 ล้านบาทในปีการเงิน 2562 ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่เพิ่มขึ้นและผลผลิตน้ำตาลที่มากขึ้น ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยและการขยายกำลังการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลในจังหวัดเลยจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มปริมาณน้ำตาลของบริษัท ต้นทุนที่ปรับตัวลดลงและปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นน่าจะช่วยชดเชยราคาน้ำตาลที่อ่อนตัวลงในปีการเงิน 2561 ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการขยายกำลังการหีบอ้อยในจังหวัดเลยและอำเภอน้ำพองจะแล้วเสร็จภายในปีการเงิน 2560 ดังนั้น เงินลงทุนของบริษัทจะลดลงจาก 3,000 ล้านบาท

     ในปีการเงิน 2560 เหลือเพียง 500 ล้านบาทต่อปีในระยะต่อไป เมื่อพิจารณาจากสมมติฐานเงินทุนจากการดำเนินงานและงบลงทุนดังกล่าวแล้ว ระดับหนี้ของบริษัทคาดว่าจะปรับตัวลดลง นอกจากนี้ เงินสดส่วนเกินที่ใช้ในการชำระหนี้ซึ่งวัดจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทก็คาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยอยู่ในช่วง 10%-15% ในปีการเงิน 2561-2562 ตามการฟื้นตัวของกำไรและการลดลงของระดับหนี้ สภาพคล่องของบริษัทก็ถือว่าอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ แม้ว่าบริษัทจะมีหนี้สินระยะยาวและหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระจำนวน 3,400-4,600 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปีการเงิน 2560-2563 รวมทั้งตั๋วแลกเงินคงค้างอีกจำนวน 500 ล้านบาท บริษัทก็ยังมีช่องทางระดมทุนในตลาดและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้จากธนาคารต่าง ๆ มากกว่า 9,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการชำระหนี้ที่ครบกำหนดดังกล่าว

 

แนวโน้มอันดับเครดิต

        แนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' หรือ 'คงที่'สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลเอาไว้ได้แม้ภายหลังการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาล นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทได้รับผลตอบแทนจากการขยายกำลังการผลิตน้ำตาลและจะสามารถจัดการภาระหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

               การปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังมีจำกัดในระยะสั้นจากการที่ราคาน้ำตาลทรายยังคงอ่อนแอและภายใต้การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ยังคงดำเนินอยู่ ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงและกำไรปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากและเงินสดส่วนเกินที่รองรับการชำระหนี้ที่อ่อนแออย่างต่อเนื่องก็เป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน

บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL)

อันดับเครดิตองค์กร              A

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

KSL189A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561    A

KSL192A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562    A

KSL198A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562    A

KSL199A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562    A

KSL202A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563    A

KSL203A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563    A

แนวโน้มอันดับเครดิต:           Stable

 

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด/ www.trisrating.com

        ติดต่อ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500

       บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2560 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ก่อน การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง

       ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!