หมวดหมู่: บลจ.

GPFloo


กบข.เผยผลการศึกษาเรื่องการเพิ่มอัตราเงินออมของสมาชิก

       กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่องอัตราเพิ่มและแนวทางเพิ่มอัตราเงินออมของสมาชิก กบข. เพื่อหาข้อสรุปเชิงนโยบายว่าวิธีการใดเหมาะสมในการทำให้สมาชิก กบข. มีการออมเพิ่มเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีเงินใช้หลังเกษียณในระดับสะดวกสบาย

      จากการศึกษาพบว่า อัตราการออมตามกฎหมาย ที่ร้อยละ 3 ของสมาชิก กบข. ภายใต้การบริหารด้วยแนวนโยบายการลงทุนในปัจจุบัน ไม่สามารถทำให้ข้าราชการสมาชิก มีเงินใช้จ่ายในระดับสะดวกสบายจนวันสุดท้ายของชีวิต โดยเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการออมภาคบังคับเฉลี่ยในกลุ่มประเทศ OECD จะอยู่ที่ร้อยละ 18 โดยนิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่มีอัตราการออมต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศนี้ อยู่ที่ร้อยละ 6 ส่วนอิตาลี มีอัตราออมสูงสุดที่ร้อยละ 33

      ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีแนวทางในการกระตุ้นอัตราการออมเพิ่ม 2 ลักษณะคือ 1. มาตรการทางการเงิน การคลัง ได้แก่ การปรับเพิ่มอัตราสะสม/สมทบ ขั้นต่ำ การลดหย่อน หรือ คืนภาษี และการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำจากการลงทุน และ 2. มาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางการเงิน การคลัง ได้แก่ การให้ความรู้เรื่องการเงิน การจัดการระบบการออมที่ง่ายและเหมาะสม

      โดยผลจากการศึกษาในครั้งนี้ เผยให้เห็นว่าสมาชิกมีข้อจำกัดในการออมเงินกับ กบข. ด้วยกันหลายเหตุผล อาทิ สมาชิกไม่สามารถถอนเงินออกมาใช้ก่อนได้หากมีความจำเป็น และต้องรอรับเงินจำนวนดังกล่าวเมื่อออกจากราชการแล้วเท่านั้น  นอกจากนี้ สมาชิกยังต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนทุกเดือน ในขณะที่บางเดือนอาจมีความจำเป็นต้องใช้เงิน และการฝากเงินกับ กบข. ไม่สามารถนำไปเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ เป็นต้น

      อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความประสงค์ที่ออมเงินเพิ่มกับ กบข. ในอัตราที่สูงกว่าปัจจุบัน สมาชิกร้อยละ 51 ต้องการออมเพิ่ม ในขณะที่ร้อยละ 49 ไม่ต้องการออมเพิ่ม สาเหตุที่สมาชิกไม่ต้องการออมเพิ่ม คือ ไม่มีความสามารถในการออมเพิ่ม หรือ หากมี ก็ต้องการจะออมเพิ่มผ่านช่องทางอื่น และมีสมาชิกบางส่วนที่มองว่าการออมในระยะยาวยังไม่ใช่เป้าหมายในปัจจุบัน

      เมื่อสอบถามถึงมาตรการจูงใจในการออมเพิ่ม สมาชิกร้อยละ 94 เห็นด้วยหากรัฐจะสมทบเพิ่มให้กับสมาชิกที่ออมเพิ่ม โดยรัฐอาจเพิ่มให้ในอัตราเดียวกัน หรือ ต่างกันก็ได้ เช่น รัฐอาจสมทบเพิ่มในอัตราก้าวหน้า หรือ รัฐอาจสมทบเพิ่มให้สมาชิกที่อายุน้อยหรือเงินเดือนน้อย ในอัตราที่มากกว่า สมาชิกที่อายุมากหรือมีเงินเดือนมากกว่า และเมื่อสอบถามว่า หากรัฐมีการแก้กฎหมาย ให้มีการปรับเพิ่มอัตราสะสม โดยกำหนดให้สมาชิกมีการสะสมเงินเพิ่มเมื่อมีการขึ้นเงินเดือน และจะหยุดสะสมเพิ่มเมื่ออัตราสะสมของสมาชิกบรรลุอัตราสะสมสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด ปรากฎว่าสมาชิกร้อยละ 83 เห็นด้วยกับมาตรการนี้

       ดังนั้น ผลการศึกษาได้นำเสนอข้อสรุปถึงแนวทางในการออมเพิ่มไว้ 2 แนวทางคือ แนวทางที่ 1 รัฐสมทบเพิ่มสำหรับสมาชิกที่มีการออมเพิ่ม และ แนวทางที่ 2 สมาชิกจะถูกหักสะสมเพิ่มเมื่อเงินเดือนขึ้นและจะถูกหยุดหักสะสมเพิ่มเมื่อบรรลุอัตราสูงสุดตามกฎหมายกำหนด โดยเมื่อคณะอนุกรรมการสมาชิกสัมพันธ์ได้รับทราบผลการศึกษานี้แล้ว ได้เสนอแนวทางในการออมเพิ่มอีกหนึ่งแนวทางคือ แนวทางที่ 3 ศึกษาความเป็นไปได้ในการกระตุ้นให้เกิดการออมเพิ่มโดยเชื่อมโยง การออมเพิ่มกับ การซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยในวัยเกษียณซึ่ง กบข. ได้นำเสนอข้อสรุปนี้ต่อคณะกรรมการ กบข. และจะได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกระตุ้นการออมเพิ่มของสมาชิกต่อไป

รวิวรรณ ทิวาเจริญ (พลอย) ฝ่ายสื่อสารและกิจกรรม

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โทร. 0-2636-1000 ต่อ 264, 099-4656249

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!