หมวดหมู่: หอการค้า

CBธนวรรธน พลวชย copy copy


ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. 60 อยู่ที่ 75.8 เพิ่มจาก ม.ค.60 ที่อยู่ 74.5 และดีสุดในรอบ 14 เดือน

       นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยอยู่ที่ระดับ 75.8 ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นโดยรวมของประเทศไทยในอนาคต

        สำหรับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยอยู่ที่ระดับ 53.8 ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 เป็นต้นมา แสดงว่าผู้บริโภครู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ในอนาคตที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกันโดยปรับตัวสู่ระดับ 84.8 ซึ่งเป็นระดับที่ดีที่สุดในรอบ 23 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เป็นต้นมา

 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เดือน กุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ 64.3 สูงสุดในรอบ 13 เดือน และเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2560 ที่อยู่ระดับ 63.1 ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เดือนกุมภาพันธ์ 2560 อยู่ที่ระดับ 70.3 และ 92.8 ตามลำดับ สูงสุดในรอบ 13 เดือน และ 23 เดือนตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมกราคม 2560 ที่อยู่ในระดับ 69.1 และ 91.2 ตามลำดับ แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้น แต่ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

      ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์ว่าการบริโภคของภาคประชาชนจะฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 3.3% โดย ผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยเพราะมีความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้ง ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าวยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำทำให้กำลังซื้อในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4% ทำให้ปี 2560 คาดเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3.6% และถ้าสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคลี่คลายลง และการส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลใช้งบประมาณกลางปีกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรมในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

    นายธนวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/60 จะขยายตัวได้ 3.2% และไตรมาส 2/60 ขยายตัวได้ 3.4% ทำให้ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 3.3% ส่วนไตรมาส 3/60 จะขยายตัวได้ 3.6-3.8% และ ไตรมาส 4/60 จะขยายตัวได้ 4-4.2% ทำให้ทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.6% ซึ่งยังอยู่ในกรอบเดิมที่ประเมินไว้ที่ 3.5-4% โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่คาดว่าเติบโตได้ 2% การท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวหลังมาตรการทัวร์ศูนย์เหรียญกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ และ การลงทุนภาครัฐที่จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ 18 กลุ่มจังหวัด การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะดึงความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนลงทุนตาม

      "เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง เพราะจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจากรัฐบาล อัตราว่างงานก็ลดลง ซึ่งเชื่อว่าไม่ควรเกิน 1% จากเดือนม.ค.ที่อยู่ 1.2% ราคาพืชผลเกษตรก็ปรับตัวดีขึ้น"นายธนวรรธน์ กล่าว

    ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะมีการประชุมวันที่ 14-15 มี.ค.นี้ เชื่อว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยขึ้น หลังเศรษฐกิจสหรัฐกลับมาฟื้นตัวที่แข็งแกร่ง คาดขยายตัวได้ 2-2.5% จากเดิม 2% ซึ่งดอกเบี้ยในปัจจุบันของสหรัฐอยู่ที่ 0.25% โดยปีนี้คาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยทั้งปี 3 ครั้ง และจากการที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่นๆ เนื่องจากมีเงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าและอาจแตะ 35.50 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยยเชื่อว่าสิ้นปีนี้ค่าเงินบาทจะยังอยู่ในกรอบ 35.00-35.50 บาท/ดอลลาร์

    "การที่เงินไหลออกจากไทยไม่น่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูง และ ไทยมีการจัดตั้งกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ซึ่งให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงทำให้เชื่อว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น"นายธนวรรธน์ กล่าว

     สำหรับ การเลื่อนรัฐบาลส่งสัญญาณคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ออกไปอีก 1 ปี จากที่จะครบกำหนด 30 ก.ย. นี้ มองว่า เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว และ ประชาชนยังไม่มีเงินมากพอ หากรัฐบาลขึ้นภาษีช่วงนี้อาจทำให้เศรษฐกิจช็อคได้

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!