หมวดหมู่: แรงงาน

1Accounting


ทางรอดนักบัญชียุคเศรษฐกิจดิจิทัล ต้องยกระดับดีกรีขึ้นมาเป็นคู่คิดซีอีโอ

    3 นักวิชาการด้านการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้เศรษฐกิจยุคดิจิทัล ส่งผลต่อโครงสร้างองค์กร และการบริหารงานธุรกิจหลายด้าน ทำให้ความต้องการบุคลากรด้านบัญชีเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง พร้อมเสนอแนะทางรอด นักบัญชีต้องยกระดับความสามารถขึ้นเป็นคู่คิดผู้นำองค์กร

     โอกาสครบรอบ 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ได้จัดงาน’Flagship for Innovative Wisdom’ เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ใหม่ๆ แก่คณาจารย์จากมหาวิทยาลัย ทั่วประเทศ พร้อมกระตุ้นให้เกิดการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาด้านธุรกิจสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีเสวนาย่อยในหัวข้อ ‘Management Accounting in Digital Economy’โดย อ.ดร.วิลาสินี วงศ์แก้ว, อ.ดร.พิมสิริ จิวะมิตร, อ.ดร.วศธร ชุติภิญโญ สามอาจารย์จากภาควิชาการบัญชี จุฬาฯ ร่วมให้ข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมบัณฑิตสู่การทำงานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

      ทั้งสามท่านเห็นตรงกันว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างองค์กร และการบริหารจัดการ ทำให้ความต้องการทรัพยากรบุคคลในหลายตำแหน่งลดบทบาทความสำคัญลง หรือต้องปรับเพิ่มทักษะความสามารถให้ตอบโจทย์ความต้องการของโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไป หนึ่งในนั้นคือนักบัญชี จากเดิมที่ทำหน้าที่เพียงแค่บันทึกข้อมูล และจัดทำรายงานทางการเงินเสนอผู้บริหาร ปัจจุบันต้องรู้จักสร้างความสัมพันธ์กับฝ่ายอื่นๆ ในองค์กรเพื่อนำข้อมูลของทุกฝ่าย มาร่วมวิเคราะห์ และคาดการณ์อนาคต จัดทำเป็นรายงานให้ผู้บริหารใช้ในการวางกลยุทธ์ธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันต้องมีการวางแผนทุก 3-5 เดือน เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาจนกลายเป็นความไม่แน่นอนที่องค์กรต้องเผชิญ

     อ.ดร.วิลาสินี วงศ์แก้ว กล่าวว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันของทุกอย่างบนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นคน สิ่งของเครื่องใช้ ไปจนถึงสินค้าและบริการ สร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เปลี่ยนวิธีในการบริโภคข้อมูลข่าวสาร การแบ่งปันความรู้และประสบการณ์  รวมถึงการเข้าถึงสินค้าและบริการของคนในยุคปัจจุบัน ทำให้องค์กรธุรกิจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา ขณะที่โครงสร้างองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้รูปแบบการทำงานด้านบัญชีต้องปรับเปลี่ยนตามให้ทันในหลายเรื่อง

     ยกตัวอย่าง ปัจจุบันองค์กรธุรกิจมีการครอบครองสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน หรือ Intangible Asset มากขึ้น เช่น แบรนด์, สัมพันธภาพระหว่างผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กร, ระบบการทำงาน, องค์ความรู้ และที่สำคัญคือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโต สินทรัพย์เหล่านี้ยากต่อการประเมินหามูลค่าที่แท้จริงได้ ขณะเดียวกันก็มีนัยสำคัญต่อความอยู่รอด และการเติบโตขององค์กร

      อ.ดร.พิมสิริ จิวะมิตร กล่าวเสริมว่า ความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนตามไม่ทัน องค์กรจึงจำเป็นต้องอาศัยบุคลากรที่มีทั้งความรู้ความสามารถ และความพร้อมที่จะทำงานอย่างเต็มใจ จึงจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที ในยุคนี้จึงเป็นยุคของ Employees come first  บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถระดับสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับองค์กรได้ คือทรัพย์สินรูปแบบหนึ่งที่มีมูลค่า ขณะที่หลักการบัญชีในยุคก่อนๆ ทรัพยากรมนุษย์เป็นได้แค่ค่าใช้จ่ายองค์กร ไม่สามารถตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเลขและบันทึกเป็นสินทรัพย์ได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้นักบัญชีต้องปรับวิธีคิดใหม่เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือกรณีที่สโมสรฟุตบอลซื้อตัวนักเตะเข้ามาเสริมทีม นักเตะที่ซื้อมาต้องถือเป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งของสโมสร เพราะเขาคือความคาดหวังว่าเข้ามาแล้วจะทำให้ทีมแข็งแกร่งขึ้นได้รับเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์มากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในทางบัญชีเราไม่ได้เป็นสินทรัพย์ เราบันทึกแค่ว่าเงินที่ซื้อเขามาเป็นค่าใช้จ่ายไปเท่าไร

    ทางด้าน อ.ดร.วศธร ชุติภิญโญ กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลทำให้องค์กรธุรกิจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา การวางกลยุทธ์ธุรกิจจากเดิมที่จะทำกันเป็น 2 ระยะ คือระยะสั้น 3-5 ปี และระยะยาว 5-10 ปี จึงต้องปรับใหม่โดยต้องวางกลยุทธ์ใหม่ทุก 3-5 เดือน เพื่อให้ใช้งานได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยข้อมูลที่ใช้ประกอบการวางกลยุทธ์จะใช้เพียงข้อมูลทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องนำเอาข้อมูลด้านอื่นๆ มาวิเคราะห์ร่วมด้วย นักการบัญชียุคเศรษฐกิจดิจิทัลจึงต้องมีทักษะในการผูกสัมพันธ์กับบุคลากรฝ่ายอื่นๆ ขององค์กรด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบุคคล ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย เป็นต้น เพื่อให้สามารถจัดทำรายงานที่มีประสิทธิภาพในการวางแผนการบริหารงานองค์กร

    การวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานของนักบัญชีจะต้องไม่จำกัดอยู่แค่รายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แต่จะต้องวิเคราะห์เพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสใหม่ๆ ในการขยายงาน หรือการสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กรให้กับผู้บริหารได้ด้วย ด้วยเหตุนี้นักบัญชียุคเศรษฐกิจดิจิทัลจึงต้องทำตัวเป็นเหมือนนักคิดที่อยู่เคียงข้างผู้บริหารจึงจะสามารถอยู่รอดได้ต่อไปไม่ต้องถูกเทคโนโลยีเข้ามาลดบทบาทความสำคัญลง

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!