หมวดหมู่: วิเคราะห์-เศรษฐกิจ

G กอบศกด ภตระกล


กอบศักดิ์คาด GDP ปีหน้าโต 3.5-4% ส่งออกโต 2-3% เหตุราคาน้ำมัน-ศก.โลกฟื้น,บาทอ่อน

      นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวได้ 3.5 - 4% ซึ่งเป็นการเติบโตดีกว่าในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3 - 3.5% ขณะที่การส่งออกในปีหน้า คาดการณ์ว่าจะสามารถกลับมาเป็นบวกได้ที่ 2-3% โดยได้ปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัว เศรษฐกิจของประเทศหลักหลายประเทศปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งภาวะเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า

      นายกอบศักดิ์ ระบุว่า วันนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้มาชี้แจงเป็นกรณีพิเศษ ภายหลังจากกระทรวงพาณิชย์ได้แถลงตัวเลขการส่งออกในเดือนพ.ย.59 ที่ขยายตัวสูงถึง 10.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรัฐบาลดีใจกับมูลค่าการส่งออกดังกล่าว และถือเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในรอบ 9 เดือน แม้ว่าจะหักน้ำมันและทองคำออกไปแล้วมูลค่าการส่งออกยังขยายตัวเป็นบวกถึง 9.3% ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม

      ทั้งนี้ สินค้าส่งออกส่วนใหญ่มาจากสินค้าเกษตรที่ขยายตัวดี เช่น สินค้าข้าว ขยายตัวได้ 26% ยางพารา ขยายตัวได้ 16% และมันสำปะหลัง ขยายตัวได้ 18% รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาขยายตัวได้สูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในหมวดเครื่องจักร หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นนี้มีความสอดคล้องกับประเทศคู่ค้าต่างๆ เช่น ไต้หวัน, เวียดนาม, สิงค์โปร์ และอินโดนีเซีย ที่การส่งออกขยายตัวใกล้เคียงกับประเทศไทย สะท้อนว่าภาพรวมการส่งออกของโลกกำลังปรับตัวดีขึ้น

    "ท่านรองนายกฯ อยากให้มาเล่าการขยายตัวของการส่งออกในเดือนพ.ย. เป็นข่าวดีที่เรารู้สึกดีใจ รู้สึกมีกำลังใจ เป็นแนวโน้มที่ดีของประเทศไทย ถ้าเป็นลักษณะนี้ปีนี้การส่งออกจะไม่ติดลบ"นายกอบศักดิ์ กล่าว

     พร้อมมองว่า ภาพรวมการส่งออกในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2 - 3% สอดคล้องกับตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดการณ์การส่งออกปี 2560 ไว้ที่ 2.4% และกระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ที่ 2.5 - 3% ซึ่งการส่งออกในเดือนพ.ย.มีแนวโน้มฟื้นตัว และเชื่อว่าจะส่งผลดีไปถึงการส่งออกในเดือนธ.ค.59 และการส่งออกในปีหน้า

      "ถ้าเป็นลักษณะนี้จะถือเป็นข่าวดี ว่าแรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยมาจากภาคส่งออกในบางส่วน ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนอีกแรงหนึ่งในช่วงต่อไป ถ้าเกิดถามผม ผมคิดว่าถ้าตัวเลขมีเพียงประเทศไทยประเทศเดียวคงไม่ดีใจเท่านี้ แต่ประเทศอื่นๆในภูมิภาคก็ขยายตัวเช่นกัน สะท้อนว่าตลาดส่งออกโลกอยู่ในช่วงปรับตัวดีขึ้น ก็หวังว่าแนวโน้มเดินหน้าต่อไปในช่วงเดือนธันวาคมและส่งผลต่อเนื่องไปถึงปีหน้า"นายกอบศักดิ์ กล่าว

     ขณะที่ภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2560 นายกอบศักดิ์ ประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.5 - 4% เป็นผลมาจากนโยบายการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะออกมาในปีหน้า เช่น งบประมาณ 1 แสนล้านบาท ที่ให้กลุ่มจังหวัดนำไปพัฒนา รวมถึงโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะทยอยออกมา ทั้งโครงการรถไฟใต้ดิน, รถไฟทางคู่, สนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ดีขึ้น รวมถึงการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นด้วย

      ขณะที่ GDP ไตรมาสที่ 4/59 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3 - 3.5% มาจากนโยบายช็อปช่วยชาติที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนและผลจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมั่นใจว่าทั้งปี 2559 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3 - 3.5% อย่างแน่นอน

      นายกอบศักดิ์ กล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยน่าจะขยายตัวดีต่อเนื่องไปถึงปี 2560 มาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวจากระดับ 29 ดอลลาร์/บาร์เรล ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52 ดอลลาร์/บาร์เรลในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน และมาจากเศรษฐกิจในหลายประเทศปรับตัวดีขึ้น ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น ส่งผลดีต่อการส่งออกกับประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ ปัจจัยด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะส่งผลดีต่อผู้ส่งออกของไทยให้ได้รับกำไรในรูปของเงินบาทมากขึ้น และมีกำลังใจในการส่งออกมากขึ้น

     และสุดท้ายปัจจัยเรื่องนโยบายกีดกันทางการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯนั้น มองว่าจะมีผลต่อประเทศไทย 2 ส่วน ส่วนหนึ่งดีกับประเทศไทยโดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเมื่อมองถึงตัวรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่มีไม่ต่ำกว่า 6-7 คนเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ทำให้นนโยบายที่จะออกมาเอื้อต่อภาคธุรกิจ ทั้งเรื่องการลดภาษี การปรับปรุงกฏระเบียบที่เป็นอุปสรรค และนโยบายส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน จะทำให้สหรัฐมีเศรษฐกิจคึกคักมากขึ้น ส่งผลต่อดีการส่งออกของไทยไปสหรัฐเพิ่มมากขึ้นด้วยและน่าเป็นผลบวกต่อประเทศ ขณะที่อีกด้านเป็นข้อระวังคือ ความผันผวนในตลาดโลก ในระหว่างการทำนโยบายข้อตกลงธุรกิจการค้าที่ดีต่อสหรัฐ อาจส่งผลต่อเม็กซิโก กลุ่ม TPP และจีน เพราะทั้ง 3 กลุ่มเป็นคู่แข่งกับไทย ถ้ามีการปรับตัวประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากในส่วนนี้เช่นเดียวกัน

อนุสรณ์คาดเศรษฐกิจไทยปี 60 โต 3.6-4.2% ขยายตัวดีสุดรอบ 4 ปี จากเอกชนลงทุน-ท่องเที่ยวหนุน

     นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะอยู่ที่ 3.6-4.2% ขยายตัวดีที่สุดในรอบสี่ปีนับตั้งแต่ปี 2555 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ 6.5% หลังมหาอุทกภัยน้ำท่วม โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามาจากแรงขับเคลื่อนสำคัญของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว

Aอนสรณ ธรรมใจ      ส่วนภาคส่งออกฟื้นตัวเป็นบวกเล็กน้อย และภาคการบริโภคกระเตื้องขึ้นต่อเนื่อง ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 33.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลไม่ต่ำกว่า 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าเพื่อการลงทุนมากขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากราคาพืชผลเกษตร การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและราคาพลังงานโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากจะเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้ง

      "คาดว่า ภาคการลงทุนโดยรวมจะเติบโตได้อย่างน้อย 5.5% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 3% การส่งออกเริ่มฟื้นตัวทำให้กำลังการผลิตลดลงและเริ่มกระตุ้นให้เกิดความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต ความมีเสถียรภาพในระยะเปลี่ยนผ่านทำให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่งออกในประชาคมอาเซียนเริ่มขยับเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น"นายอนุสรณ์ กล่าว

      นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การลงทุนก่อสร้างของเอกชนมีความสัมพันธ์ตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่ง หากมีความคืบหน้าตามเป้าหมาย จะดึงให้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีความสัมพันธ์ในระดับสูงทางบวก (Positive Correlation) กับการขยายตัวของภาคส่งออก  ภาคบริโภคกระเตื้องขึ้นโดยขยายตัวได้ที่ระดับ 2.5-3% นับว่าไม่มากเพราะระดับรายได้ประชาชนโดยทั่วไปไม่เพิ่มขึ้นมาก ความไม่มั่นคงในงานลดลงจากการนำเทคโนโลยีมาทดแทนในการทำงานมากขึ้น

     นอกจากนี้ภาคการบริโภคยังได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การนำเงินรายได้ในอนาคตมาบริโภค รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการบริโภคโดยลดหย่อนภาษีกระตุ้นการบริโภคได้เพียงชั่วคราวระยะสั้น และได้ทำมี Stock Inventory เก็บไว้จำนวนมากในภาคครัวเรือนและส่งผลให้ตัวเลขภาคการบริโภคชะลอลงอย่างชัดเจนในไตรมาสแรกปี 2560

     ด้านอัตราการขยายตัวของการส่งออกอยู่ที่ 2-3% การนำเข้าอยู่ที่ 4-5% ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลมากจากรายได้การท่องเที่ยว เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่อง

      ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2560  คาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 3.3-3.6% จากปีนี้  ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงตัวเลขเฉลี่ยจีดีพีโลกให้ปรับตัวดีขึ้น คาดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 1.8-2% และ ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.6-5%

     ระบบการค้าโลกจะเผชิญแรงกดดันของลัทธิกีดกันทางการค้าและความเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์การเปิดเสรีจะหันมาให้น้ำหนักกับการทำข้อตกลงทางการค้าและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีมากขึ้นกว่าระบบพหุภาคี ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในยุโรปจะถูกสั่นคลอนโดยพรรคการเมืองขวาจัดหรือซ้ายจัดที่กำลังก้าวเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลในยุโรปหลายประเทศ

      ทั้งนี้ คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปี 2560 จะสูงกว่าที่สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ประเมินไว้ โดยมองว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงถึง 2.3-2.8% ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปจะอ่อนแอมากกว่าที่หน่วยงานทางเศรษฐกิจของโลกประเมินไว้ค่อนข้างมากโดยคาดว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยุโรปจะขยายไม่เกิน 1.4% ส่วนเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง ความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่แตกเพิ่มเติมลดลง เศรษฐกิจรัสเซียขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกหลังจากติดลบต่อเนื่องมาสองปี และกลุ่มประเทศอาเซียนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ 5-6% โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอินโดจีนและเมียนมามีอัตราการเติบโตสูงต่อเนื่อง

     นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ตลาดการเงินโลกและไทยจะเผชิญกับจุดเปลี่ยนของนโยบายการเงินจากยุคสมัยดอกเบี้ยต่ำและการผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกเมื่อปี 2551-2552 มาเป็นยุคสมัยอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ในส่วนของเงินบาทน่าจะอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 34-37 แม้นจะเกินดุลการค้าแต่เงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงไหลออกสุทธิจากการออกไปลงทุนมากขึ้นของนักลงทุนและบริษัทสัญชาติไทยในต่างประเทศ

       ดัชนี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยน่าจะสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ได้ หากสหรัฐอเมริกาไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงเกินไปและทำให้เม็ดเงินในตลาดการเงินไหลกลับสหรัฐฯจำนวนมาก อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น

        พร้อมเสนอแนะแนวทางดำเนินนโยบายสำคัญต่อรัฐบาล ได้แก่ กำหนดทบทวนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ วางยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อให้ ไทย" พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ,เปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการประชานิยมระยะสั้น มาเป็นระบบสวัสดิการโดยรัฐที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ,เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณพร้อมกับเร่งให้เกิดความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งคมนาคม และ ระบบบริหารจัดการน้ำ ,ดำเนินการเพื่อให้ ประเทศไทย" กลับคืนสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งตามโรดแมพ เป็นต้น

        อินโฟเควสท์

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!