หมวดหมู่: สภาพัฒน์ฯ สศช.

Gปรเมธ วมลศร copy


สภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพีไทยปี 58 ขยายตัว 2.8% ส่วนปี 59 คาดขยายตัว 2.8-3.8% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 3-4%

       สภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพีไทยปี 58 ขยายตัวได้ 2.8% ส่วนปี 59 คาดขยายตัว 2.8-3.8%  ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-4%  พร้อมคาดส่งออกปีนี้ขยายตัว 1.2%  จากปี 58 ที่ติดลบ 5.6% ส่วนนำเข้าคาดขยายตัว  1.3% จากติดลบ 11.3% ในปีที่ผ่านมา ด้านเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดอยู่ที่ติดลบ 0.1% ถึงบวก 0.9% ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.21 หมื่นล้านดอลลาร์ ดุลการค้าเกินดุล 3.48 หมื่นล้านดอลลาร์ ประเมินน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 32-37 เหรียญ ส่วนเงินบาทคาดขยับในกรอบ 35.5-36.5 บ./ดอลล์ อ่อนค่าจากปี 58 ที่ 34.29 บ./ดอลล์ ด้านการลงทุนภาคเอกชนคาดขยายตัวได้ 3.2% จาก 2% ในปี 58 ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดขยายตัว 11.2% รับเม็ดเงินลงทุนภาครัฐในปีงบ 59

   นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทยในปี 2559 คาดขยายตัวได้ 2.8-3.8% ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่ขยายตัวได้ 2.8% โดยมีแรงขับเคลื่อนจาก การเร่งขึ้นของเม็ดเงินการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ประกาศเพิ่มเติมในเดือนกันยายน 2558-มกราคม 2559 แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่ออกในรูปเงินบาทขยายตัวและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น 

         “การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุน โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 คาดว่าจะมีเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำรวมอยู่ที่ 2,541,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายโดยรวมในปีงบ 2559 ที่ 93.4% งบลงทุนรัฐวิสาหกิจคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนได้ 444,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 75% ของกรอบวงเงินรวม 592,435 ล้านบาท โดยจะมีความคืบหน้าของการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมระยะเร่งด่วน 2559 ที่มีความพร้อม 20 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีเงินเบิกจ่ายในปี 2559 ที่ 66,834 ล้านบาทนายปรเมธี กล่าว 

     นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2558 โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 59 จะอยู่ที่ 32-37 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งต่ำสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นผลดีต่อกำลังซื้อที่แท้จริงของประชาชน ลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและเอื้ออำนวยให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะเริ่มปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ และการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทย 32.5 ล้านคน สร้างรายรับจากการท่องเที่ยวรวม 1.65 ล้านบาท 

      ด้านค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีคาดอยู่ที่ 35.5-36.5 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากปี 58 ที่ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าช้ากว่าคาด ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นมีแนวโน้มของการผ่อนคลายนโยบายการเงินท่ามกลางแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท 

    ทั้งนี้ นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้การคาดการณ์จีดีพีอยู่ที่ 2.8-3.8% นั้น ถือว่าลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-4% เนื่องจากข้อจำกัดที่ทำให้การส่งออกสินค้ายังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ และไม่สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้ โดยการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออก ด้านการอ่อนค่าของสกุลเงินสำคัญๆในประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเงินหยวนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการไหลออกของเงินทุน การลดลงของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และการเข้าเก็งกำไรค่าเงินหยวนของนักลงทุนในตลาด 

     สำหรับ ภาคการส่งออกในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.2% ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2558 ที่ติดลบ 5.6% แต่ทั้งนี้เป็นการปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานราคาส่งออกที่ต่ำลงตามราคาน้ำมัน และการปรับลดปริมาณการส่งออกตามสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกที่ต่ำกว่าที่คาด ด้านการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 1.3% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ติดลบ 11.3% ส่วนดุลการค้าในปีนี้คาดว่าจะเกินดุล 3.48 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่เกินดุล 3.46 หมื่นล้านดอลลาร์ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุล 3.21 หมื่นล้านดอลลาร์ 

     นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทย ยังได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลก ฟื้นตัวช้า ผลผลิตในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันลดลง และสกุลเงินในประเทศผู้ส่งออกอ่อนค่าลง โดยคาดว่า ราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน และราคาพืชพลังงานต่างๆ จะฟื้นตัวช้า จึงคาดว่าการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของราคาสินค้าเกษตรจะยังเป็นข้อจำกัดสำหรับฐานรายได้ในภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบจากภัยแล้ง ยังมีแนวโน้มรุนแรงตามสถานการณ์ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศและปริมาณน้ำฝนในปีนี้ อย่างไรก็ตามมองว่าปัญหาภัยแล้งยังอยู่ในประมาณการและการรองรับแผนต่างๆของรัฐบาลที่วางไว้ 

      นายปรเมธี กล่าวว่า ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจในปีนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีคาดอยู่ในช่วง (-0.1)-0.9% เทียบกับติดลบ 0.9% ในปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นการปรับลดจากค่าเฉลี่ยเดิมที่ 1-2% ตามการปรับลดลงของสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก 

     อย่างไรก็ตาม มองว่า ขณะนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและแผนการเดินหน้าการลงทุนในขณะนี้ จะเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยงจากภายนอกได้ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิดทั้งในเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนในส่วนของการควบคุมการชะลอตัว การสร้างความมั่นใจในภาคการเงิน เพราะช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนและมองว่าจะยังมีอยู่ต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาคนขาดความมั่นใจ มีการโจมตีค่าเงิน ทุนสำรองของจีนจาก 4 ล้านล้านหยวน เริ่มลดลงไป เกือบจะเหลืออยู่ที่ 3.2 ล้านล้านหยวน ซึ่งทางไทยเองจะต้องติดตามเศรษฐกิจโลก 

     “ณ จุดนี้ในส่วนของมาตรการยังมีอยู่เยอะจากการใช้จ่ายภาครัฐ ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคต่างๆ เชื่อว่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงได้ส่วนหนึ่ง ส่วนจะมีมาตรการอื่นหรือไม่คงต้องติดตามดูนายปรเมธี กล่าว 

     สำหรับ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 2.1% โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ความเชื่อมั่นดีขึ้น การดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ อัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ด้านการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.7% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ 2.2% 

       ด้านการลงทุนภาคเอกชนปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2%ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 2% ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวได้ 11.2% จากการเพิ่มขึ้นของกรอบเม็ดเงินลงทุนภาครัฐในปีงบประมาณ 2559  

     นายปรเมธี กล่าวถึงการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปีนี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับข้อจำกัด ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การผลิตและฐานรายได้ของภาคประชาชนในภาคเตรกรรยังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการดูแลฐานรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย การดูแลขับเคลื่อนการส่งออกและการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและการยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว 

    อย่างไรก็ตาม ประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ การดำเนินการโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้และสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตามแผนปฏิบัติการคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ที่มีความพร้อมประกวดราคาและจะสามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในปีนี้ โครงการแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วน และโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน

     นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการตามมาตรการที่อยู่ภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้อนุมัติไปแล้ว เพื่อดูแลรายได้เกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้แล้วเสร็จตามกำหนด การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว เป็นต้น 

     สำหรับ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ 2.8% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวได้ 2.9% เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้การส่งออกลดลง และเป็นข้อจำกัดค่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่อุปสงค์ในประเทศขยายตัวเร่งขึ้นทั้งในด้านการลงทุนภาครัฐ และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งรัดการเบิกจ่ายเม็ดเงินภาครัฐและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม การลดลงของราคาน้ำมันเป็นต้น 

    ด้านการลงทุนรวมในปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ 9.4% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลง 2.6% โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัว 41.4% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 21.9% ในไตรมาสก่อน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ 1.9% ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลง10.1%

ธปท.ยอมรับจีดีพีปี 58 ของสภาพัฒน์ที่ 2.8% เป็นไปตามคาด พร้อมจับตาการใช้จ่ายเอกชน - ส่งออก และศก.เอเชีย

  นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากที่ สศช.แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และทั้งปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 ถือว่าภาพรวมใกล้เคียงกับที่ ธปท. ประเมินไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ก.พ.59 ที่ผ่านมา ซึ่ง กนง. มองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้จ่ายของภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

    อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามแนวโน้มการใช้จ่ายของภาคเอกชนในระยะต่อไป รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกประเทศ จากทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย รวมถึงความผันผวนของตลาดการเงินโลก

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!