หมวดหมู่: ศาสนา

1ประชมมส




มติมส. 5 มค.เอกฉันท์ เสนอชื่อ สมเด็จวัดปากน้ำ 
ให้นายกฯนำทูลเป็นสังฆราช คณะสงฆ์ฮึ่ม-เ ตือนอย่าดอง พุทธะอิสระบุกทำเนียบยื่นค้าน

     เผยมติมส.เอกฉันท์ เสนอชื่อ'สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์' ให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็น 'สมเด็จพระสังฆราช'องค์ใหม่ คณะสงฆ์ฮึ่ม รัฐบาลอย่าดองชื่อ เอาไว้ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนา 'เจ้าคุณประสาร' เตือนอย่าก้าวล่วงพุทธจักร แนะทำตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์อย่างตรงไป ตรงมา สะกิด'บิ๊กตู่' ระวังคำพูดกรณีจะเสนอทูลเกล้าฯ หรือไม่เสนอ เพราะถือว่าไม่เคารพมติ ทั้งๆ ที่หน้าที่ของนายกฯ คือทำตามคำแนะนำของมหาเถรสมาคม วอนมีน้ำใจและให้ความสำคัญคณะสงฆ์ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นชนวนให้พระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหวได้ ด้านมส.ประชุมนัดวันที่ 11 ม.ค. มอบพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต-เจ้าอาวาสวัดบวรฯ-แม่กองธรรมสนามหลวง ขณะที่พุทธะอิสระหอบ 3 แสนชื่อยื่นให้ 'ม.ล.ปนัดดา' ค้านตั้งสมเด็จวัดปากน้ำขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขสงฆ์ อีกฝ่ายก็ยื่นหนังสือถึงมส.สนับสนุนเต็มที่

วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9176 ข่าวสดรายวัน

ประชุมมส. - สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เดินทางไปเป็นประธานที่ประชุมมหาเถรส มาคม ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 11 ม.ค.

 

พุทธะอิสระยื่นค้านตั้งสังฆราช

       เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 11 ม.ค. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พระสุวิทย์ ธีรธัมโม หรือ พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พร้อมลูกศิษย์ 6 คน เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ พร้อมรายชื่อประชาชน 3 แสนรายชื่อ เพื่อคัดค้านการแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง ธีรธัมโม) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ หัวหน้าคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 โดย มีม.ล. ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้รับและพาไปนั่งแถลงข่าวภายในทำเนียบรัฐบาล

พุทธะอิสระ อ้างว่า การคัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช เนื่องจากเห็นว่ามีพฤติกรรมที่ละเลย ละเว้น ละเมิดพระธรรมวินัย และละเมิดกฎหมายบ้านเมือง จึงขอเรียกร้องให้นายกฯใช้อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งใช้ปกครองได้ทั้งอาณาจักรและศาสนจักร คัดสรรพระเถระผู้ทรงธรรม ทรงวินัย มีพระจริยวัตรงดงาม เป็นที่ยอมรับและเลื่อมใสศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทั่วไป นำขึ้นทูลเกล้าฯขอโปรดเกล้าฯสถาปนาแต่งตั้ง โดยอ้างว่าประชาชนชาวพุทธมิอาจเลื่อมใสศรัทธาบุคคลที่มีปัญหา มีมลทิน ไม่เป็นที่ศรัทธา มาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

บิ๊กตู่โบ้ยให้แก้ปัญหา-ไม่ได้ไม่เสนอ

     "การที่คัดค้านการดำรงตำแหน่งพระสังฆราช เพราะเห็นว่าไม่สมควรเนื่องจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญ โญ)เป็นผู้ที่มีผลประโยชน์จากธัมชโย ถ้าได้ดำรงตำแหน่งก็จะเกิดการปกป้องพวกพ้อง ไม่ได้ค้านเรื่องใดๆ แต่ค้านคนที่ละเมิดกฎหมาย ไม่ค้านพระราชอำนาจ และผิดพระธรรมวินัย เอื้อประโยชน์ต่ออลัชชี ช่วยเหลือพวกพ้อง ครั้งนี้ถือว่าเป็นการยื่นครั้งสุดท้าย เพราะจากนี้ไปจะดำเนินการยื่นฟ้องร้อง มาตรา 157 ต่อไป เนื่องจากหลักฐานนั้นครบถ้วนหมดแล้ว และการละเมิดสถาบัน มาตรา 112 ที่มีการแอบอ้างเบื้องสูงหาช่องทางใช้ประโยชน์ ต่อจากนี้จะเป็นการฟ้องแพ่งและอาญาต่อไป" พุทธอิสระกล่าว

      ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ของประเทศไทย หลังพุทธอิสระหรือพระสุวิทย์ พร้อมพวกยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อประชาชน 3 แสนรายชื่อ เพื่อคัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นสมเด็จพระสังฆราชว่า "ผมบอกแล้วว่าให้ไปแก้กันให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ ผมก็เสนอชื่อให้ไม่ได้"

'วิษณุ'แก้ต่างให้-บิ๊กตู่พูดเป็นกลาง

     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาเสนอแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ว่า เชื่อว่าเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชไม่น่าจะเป็นปัญหา ขอย้อนกลับไปช่วยนายกฯ หลังถูกวิจารณ์ว่าพูดเพื่อเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนั้น ความจริงไม่ใช่ แต่ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เมื่อมีคนถามถึงเรื่องนี้ นายกฯก็ต้องพูดเป็นกลางๆ อย่างนั้น ถ้าถามตน คงตอบไปอย่างเดียวกันนั้น เรื่องแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เป็นเรื่องการสถาปนาตำแหน่งที่สำคัญที่อยู่บนความเชื่อถือและศรัทธา ไม่ใช่ว่ามีการคัดค้าน ดังนั้นการจะมาขุดคุ้ย จนกระทบต่อศรัทธาของอีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นชนวนให้เกิดความแตกแยก ทุกฝ่าย คงต้องระมัดระวังคำพูด ระมัดระวังการออกความเห็นในการวิจารณ์ ด้วยเหตุว่าถ้าวันหนึ่งทุกอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่ออกแรงกันอยู่แล้วจะเกิดปัญหาขึ้น อย่าทำอะไรให้เกิดความขัดแย้งดีกว่า

    "ขณะนี้ชื่อองค์ใหม่ยังไม่ได้ส่งมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2 หน่วย คือ มหาเถรสมาคม กับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งสำนักพุทธฯถือว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลในฐานะเป็นฝ่ายเลขาฯ ที่อยู่ในมหาเถรฯ ดังนั้นเมื่อยังไม่ส่งมาก็ไม่ต้องมีอะไรที่จะต้องไปพูดกันมาก และเมื่อถามนายกฯ นายกฯก็บอกว่าต้องตรวจสอบดูซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่ตรวจสอบเพื่อที่จะเอาหรือไม่เอา หรือตีกลับ เพราะตามมาตรา 7 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ได้กำหนดไว้แล้ว" นายวิษณุกล่าว

ย้ำต้องไม่ทำให้ระคายเบื้องยุคลบาท

     นายวิษณุ กล่าวว่า กฎหมายพ.ร.บ.สงฆ์นั้นกำหนดไว้ 3 ขั้นตอนคือ ขั้นหนึ่ง ต้องดำเนินการโดยมหาเถรสมาคม หรือเรียกว่าเถรฯอำนาจที่ท่านต้องประชุมพิจารณาแล้วเสนอชื่อ เมื่อเสนอเสร็จก็มาเข้าสู่ขั้นที่สอง ที่เรียกว่ารัฐอำนาจ คืออำนาจของนายกรัฐ มนตรี ที่ต้องรับมาแล้วส่งต่อไปหรือจะเก็บเอาไว้โดยไม่มีเหตุมีผลไม่ได้ทั้งนั้น จะต้องพิจารณาเพื่อนำความกราบบังคมทูลต้องพิจารณาเหตุผลหลายอย่าง ซึ่งบางครั้งคนที่เสนอชื่อมานั้นอาจจะไม่ทราบ แต่คนเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หรือ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีนั้นทราบในกระบวนการก่อนที่จะส่งไปสำนักราชเลขาฯ หากมีปัญหาอย่างไรก็ต้องหาคำตอบเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเพื่อให้หมดปัญหา ไม่นำสิ่งที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทขึ้นกราบบังคมทูล ตรงนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ออกข่าว ไม่เอามาพูดกัน

     "กรณีอย่างนี้ไม่ว่าจะมีเหตุคัดค้านกันหรือไม่ และผมก็ไม่เห็นเหตุคัดค้านอะไรรุนแรงในขณะนี้ แต่เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องตรวจสอบและสร้างความมั่นใจให้กระบวนการต่อไป ก่อนจะส่งไปขั้นที่สาม คือพระราชอำนาจ และมีพิธีเสด็จพระราช ดำเนินไปที่อุโบสถวัดพระแก้ว และมีการอ่านประกาศสถาปนาได้ยินไปทั่วประเทศ ท่ามกลางมหาเถรสมาคม มีพิธีรีตองมากกว่าธรรมดา" นายวิษณุระบุ

ยันต้องเดินตามใน 3 ขั้นตอนสำคัญ

     นายวิษณุ กล่าวว่า โดยมาก การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชจะมีในวันฉัตรมงคล วันวิสาขบูชา วันเฉลิมพระชนมพรรษา แต่การจะแทรกขึ้นมาในวันใดวันหนึ่งที่กำหนดเป็นพิเศษก็อาจมีได้แต่โดยพระราชอัธยาศัย ดังนั้น ไม่ควรมีใครคาดการณ์หรือเร่งรัด และขอย้ำว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีการส่งชื่อมาแต่อย่างใด

    เมื่อถามว่า หากมีกรณีคัดค้านจะต้องดำเนินการอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า สำนักพุทธฯชี้แจงแล้วว่าเป็นสิทธิ จะคัดค้าน หรือสนับสนุนก็ไม่เป็นไร ดังนั้นจะยืดในส่วนไหนก็ยืดไป แต่ต้องไม่พ้นจาก 3 ขั้นตอนตามกฎหมายพ.ร.บ.คณะสงฆ์ อย่างไรก็ตามการมีหรือไม่มีการสถาปนานั้น หรือไม่ว่าช้าหรือเร็ว หรือจะรักษาการไปพลางก่อนนั้นทั้งหมดจะต้องมีคำตอบ ถ้าไม่ตอบโดยคณะสงฆ์ ก็ต้องตอบโดยรัฐบาล ให้ถึงวาระนั้นๆก่อน

    ผู้สื่อข่าวถามว่าตามที่ผู้คัดค้านนั้นมี ข้อสงสัยในคุณสมบัติ นายวิษณุกล่าวว่า คุณสมบัติก็ไม่มีอะไรมาก คือ ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ และ อีกข้อคือความสามารถในการบริหารพระศาสนา หมายถึงเรื่องสุขภาพ ซึ่งหากเรียงตามอาวุโสสมณศักดิ์ สูงสุดลำดับ 1 คือ สมเด็จมหารัชมังคลาจารย์ อาวุโสสมณศักดิ์สูงสุดลำดับ 2 คือสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศ์ แต่ท่านมีปัญหาเรื่องสุขภาพ และอาวุโสสมณศักดิ์สูงสุดลำดับ 3 คือสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธ ลำดับที่ 4 คือ สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร ดังนั้นการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชของประเทศไทยนั้นต้องอาศัยทั้งกฎหมายและโบราณประเพณีประกอบกัน ดังนั้นต้องเดินตามขั้นตอน

ชี้เรื่องละเอียดอ่อน-อย่าหยาบคาย

     เมื่อถามว่ารัฐบาลจะเรียกร้องพวกที่ออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอ ร้องให้อยู่ในความสงบ หากจะแสดงอาการเชียร์อาจารย์ของตน ค้านคนอื่นก็สุดแล้วแต่ แต่อย่าทำเกินเลยจนเกิดความขัดแย้งกัน เพราะหากมีความขัดแย้งกันเรื่องพระ คงไม่สวยงาม และยืนยันว่ารัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมาย และมีอะไรจะปรึกษาทางคณะสงฆ์

     "ขอร้องว่า เรื่องสมเด็จพระสังฆราชนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน หากมีการต่อต้านจะไปกันใหญ่โต ซึ่งเวลานี้มีการใช้คำหยาบคาย แล้วสุดท้ายถ้าท่านเป็นแล้วจะวางหน้ากันอย่างไร คือไม่รู้จะว่าอย่างไร จึงต้องระมัด ระวัง และอะไรที่เป็นความขัดแย้ง ไม่ว่าเรื่องยางพารา เรื่องข้าว เรื่องน้ำ สสส. หรือเรื่องอื่นใดที่อาจนำไปสู่ความไม่ปรองดองนั้น ถือว่าเป็นปัญหาทั้งสิ้น รัฐบาลต้องพยายามทำให้ดีที่สุด โดยสร้างความเข้าใจ อาศัยกฎหมาย" นายวิษณุระบุ

     เมื่อถามว่าหากยังไม่ได้สมเด็จพระสังฆราชจะเกิดปัญหาใดหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ความจริงเรามีผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชมานาน 10 ปีแล้ว แต่จะมาบอกว่าจะให้รักษาการต่อๆ ไปอีกก็ไม่ใช่ เพราะต้องดูที่ความเหมาะสมในหลายๆ เรื่อง ต้องคิดถึงผลกระทบหลายอย่าง

ตู่ท้าบิ๊กตู่-ฟังมส.หรือพุทธะอิสระ

     วันเดียวกัน นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จ การแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกล เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงจุดยืนกรณีแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ว่า จะยึดตามกฎหมายคณะสงฆ์ หรือเลือกที่เชื่อฟังพุทธะอิสระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์และผู้นำทางจิตวิญญาณของแกนนำ คสช.

    นายจตุพร กล่าวว่า คณะสงฆ์ในประเทศ ไทยมี 2 นิกายสำคัญ คือ ธรรมยุต และมหานิกาย โดยทั้งสองนิกายได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหลักศาสนาร่วมกันอย่างมีความสุข แต่เมื่อพุทธะอิสระกับพวกและสาวกเคลื่อนไหวเสี้ยมให้คณะสงฆ์ขัดแย้งกันเพื่อล้มการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชตามกฎหมายคณะสงฆ์ แต่ตนเชื่อว่าทำไม่สำเร็จ รวมทั้งสุดท้ายจะได้เห็นทัพของสงฆ์จะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

     "ขณะนี้ได้มีพระพุทธะอิสระกับพวก 3-4 คน พยายามบงการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจะฟังพระอาจารย์ทางจิตวิญญาณมากกว่าฟังประชาชน และมหาเถรสมาคมหรือไม่ แต่การปรากฏภาพถ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ และแกนนำ คสช. คุกเข่าต่อหน้าพุทธะอิสระย่อมอธิบายได้อย่างชัดเจนถึงการไม่กล้าจัดการกับพุทธะอิสระ


ประชุมมส. - สมเด็จพระมหารัช มังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานที่ประชุมคณะกรรมการ มหาเถรสมาคม ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อ.พุทธ มณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 11 ม.ค.

เตือนให้ระวังไม่ฟังเสียงคณะสงฆ์

    นายจตุพร กล่าวต่อว่าตามกฎหมายคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 กำหนดการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชไว้ในมาตรา 7 โดยระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

     นายจตุพร กล่าวว่าสำหรับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์(ช่วง วรปุญฺโญ) เป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ในขณะนี้ ดังนั้น จึงเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายคณะสงฆ์ที่จะได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ แต่พระพุทธะอิสระกับพวกกล่าวหาสมเด็จช่วงว่า เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโย ซึ่งถูกกล่าวหาในคดีความมากมาย จึงไม่มีความเหมาะสมในการเป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ใหม่

     "คณะสงฆ์จะจับมือกันทุกนิกายเพื่อปกป้องศาสนา เพราะถ้าให้ฝ่ายอาณาจักรแทรกแซงศาสนาจะเกิดการต่อต้านครั้งใหญ่ และวันนี้ไม่ใช่เรื่องมหานิกายหรือธรรมยุต แต่เป็นเรื่องการยึดกฎหมายคณะสงฆ์หรือการยืนข้างพุทธะอิสระ ถ้ายืนข้างพุทธะอิสระแล้ว วันหนึ่งจะได้เห็นว่า พระทั้งประเทศมีจริง" นายจตุพรระบุ

เจ้าคุณประสาร เตือนบิ๊กตู่ระวังพูด

     ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ (ประสาร จันท สาโร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะเลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงกรณีที่พุทธะอิสระ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านการแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เป็นสมเด็จพระสังฆราช ว่า อาตมาได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มพุทธะอิสระ ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด กับการที่กลุ่มดังกล่าวคัดค้านการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ให้ได้รับแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งองค์กรพุทธฯ มิได้ให้ความสำคัญตรงนี้ แต่องค์กรพุทธฯ ต้องการเตือนรัฐบาล ให้แสดงจุดยืนทำตามกฎหมายคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 กำหนดการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ก้าวล่วงอำนาจพุทธจักร ซึ่งต่างฝ่ายต่างไม่ควรก้าวล่วงกันอยู่แล้ว

      "นายกฯ มีหน้าที่เพียงนำความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ที่จะเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีความเหมาะสม สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้น ไม่ควรแสดงความคิดเห็นหรือไม่นำเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ มิฉะนั้น จะถือว่าไม่ให้ความเคารพมหาเถรฯ" พระเมธีธรรมาจารย์กล่าว

ระวังพลังพระสงฆ์เคลื่อนไหวใหญ่

     ส่วนกรณีที่นายกฯ ระบุถึงปัญหาการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ถ้ายังไม่แก้ปัญหาให้แล้วเสร็จ ก็จะไม่นำเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ นั้น พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวว่าขอให้นายกฯ มีน้ำใจต่อคณะสงฆ์บ้าง ให้ความสำคัญต่อการตัดสินใจของคณะสงฆ์ อย่าประวิงเวลาหรือถ่วงเรื่องให้ช้าลง ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายคณะสงฆ์ อย่าไปให้ความสนใจกับกลุ่มที่เข้ามาป่วน คอยแย้ง ว่าพระรูปนี้ไม่เหมาะสมบ้าง พระรูปนั้น ไม่เหมาะสมบ้าง เสนอชื่อพระรูปนี้ก็ไม่เอา เสนอชื่อพระรูปนั้นก็บอกอีกว่าไม่เหมาะสม แล้วแบบนี้จะแล้วเสร็จได้อย่างไร

     "ทุกประการที่องค์กรพุทธฯ ดำเนินไปล้วนเป็นไปตามขั้นตอนของกระบวนการตามกฎหมาย มิได้ต้องการมาเป็นศัตรูกับนายกฯ แต่มาเตือนให้นายกฯ ทำตามหน้าที่ที่สมควร ซึ่งหากนายกฯ ดำเนินการตามที่มหาเถรฯ เสนอทันที คณะสงฆ์ทั้งประเทศก็ เห็นชอบด้วย แต่ถ้าไม่ทำตาม คณะสงฆ์ ทั่วประเทศคงต้องแสดงพลังเคลื่อนไหวครั้งใหญ่อย่างแน่นอน" พระเมธีธรรมาจารย์กล่าว

สนพ.ยื่นหนุนตั้งสมเด็จวัดปากน้ำ

     เมื่อเวลา 13.00 น. ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อ.พุทธมณฑล จ.นคร ปฐม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากมีข่าวว่ากลุ่มเครือข่ายปกป้องพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และเครือข่ายสตรีปกป้องพระพุทธศาสนา จะมายื่นหนังสือคัดค้านการเสนอชื่อตั้งสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ในการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารและ เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล กว่า 20 นาย เข้ามาดูแลความเรียบร้อย ภายในอาคารสมเด็จ พระมหารัชมังคลาจารย์และบริเวณโดยรอบ พุทธมณฑล แต่ปรากฏว่า คณะกลุ่มบุคคล ดังกล่าวไม่ได้เดินทางมาแต่อย่างใด มีเพียงนายเสถียร วิพรมหา นายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) ยื่นหนังสือเพื่อสนับสนุนการเสนอแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535

     นายเสถียร กล่าวว่า สนพ.ขอสนับสนุนให้พิจารณาแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 และเป็นไปตามมติมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ ซึ่งขณะนี้ สมเด็จพระมหารัชมังคลา จารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ตามที่กฎหมายคณะสงฆ์กำหนดไว้ รวมทั้งขอให้ทุกฝ่ายยึดการปกครองคณะสงฆ์ที่มีมหาเถรสมาคมเป็นองค์กรปกครองสูงสุด เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกและสับสนขึ้นในสังคม

มส.ไม่มีวาระถกเสนอชื่อสังฆราช

     จากนั้น เวลา 14.00 น. มีการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ครั้งที่ 1/2559 มีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน ซึ่งใช้เวลาการประชุมเพียง 30 นาที

      หลังการประชุมนายประดับ โพธิกาญจนวัตร รองโฆษกสำนัก งานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า การประชุมมหาเถรฯ ครั้งนี้ไม่ได้มีการหารือถึงการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ที่มีความเหมาะสม ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่ม พ.ศ.2535 ในมาตรา 7 เพื่อส่งให้นายกฯแต่อย่างใด มีเพียงการมอบพระบัญชาแต่งตั้งสมเด็จพระวันรัต เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ใน การนี้ สมเด็จพระวันรัต ขอลาออกจากตำแหน่งแม่กองธรรมสนามหลวง โดยมหาเถรฯ มีมติแต่งตั้งพระพรหมมุนี (สุชิน อัคคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม รองแม่กองธรรมสนามหลวง ให้ดำรงตำแหน่งเป็นแม่กองธรรมสนามหลวงแทน

สำนักพุทธฯย้ำต้องยึดถือมาตรา7

     นายประดับ กล่าวต่อว่า สำหรับการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น คณะสงฆ์ได้ยึด พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 หมวดสมเด็จพระสังฆราช ในมาตรา 7 กำหนดไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

     ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระแสระบุว่ามหาเถรฯ มีการประชุมวาระพิเศษ เกี่ยวกับการเสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชไปแล้วนั้น นายประดับกล่าวว่า มหาเถรฯมีการประชุมวาระพิเศษจริง เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ซึ่งตนไม่ทราบว่า เป็นการประชุมเรื่องอะไร โดยถือเป็นอำนาจของมหาเถรฯ ส่วนกรณีมีผู้คัดค้านการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แล้วแต่จะตีความในข้อกฎหมาย ทั้งนี้ที่ผ่านมาเมื่อมีการเสนอตั้งสมเด็จพระสังฆราชทุกครั้ง ก็จะมีผู้ที่มีความเห็นต่างอยู่เสมอ

เชื่อมส.เสนอชื่อเพียงรายชื่อเดียว

     นายชยพล พงษ์สีดา รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมมหาเถรฯ วันนี้ในวาระปกติไม่มีการหารือในเรื่องเกี่ยวกับการเสนอแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช หากมหาเถรฯ จะหารือในประเด็นนี้ก็หยิบยกขึ้นมาหารือเป็นวาระพิเศษ ซึ่งการพิจารณาเสนอแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชของมส.ที่ผ่านมา คณะกรรม การมหาเถรฯ ทั้ง 20 รูป จะพิจารณาโดยยึดตามจารีตประเพณีและตามกฎหมายการปกครองคณะสงฆ์

     นายชยพล กล่าวต่อว่า ขณะนี้สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้า ที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งตามกฎหมายคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันกำหนดให้เสนอเพียงรูปเดียว ก็เชื่อว่าหากมหาเถรฯประชุมพิจารณา ก็คงเลือกและเสนอเพียงรูปเดียว ตามข้อกฎหมาย

เผยมติมส.5 ม.ค.-ชงชื่อสมเด็จช่วง

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมวาระนัดพิเศษของมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 5 ม.ค.นั้น เป็นการเรียกประชุมลับเฉพาะกรรมการมหาเถรสมาคมเท่านั้น และที่ประชุมมีมติเสนอรายชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แล้ว

    ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอชื่อสมเด็จพระราชาคณะที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไข เพิ่มเติม พ.ศ.2535 เพียงรูปเดียว โดยสมเด็จ พระราชาคณะ ที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขณะนี้ คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

     เย็นวันเดียวกัน นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสมโภช พระอาราม 188 ปี วัดประยุรวงศาวาส ถึงกรณีที่มหาเถรสมาคมประชุมวาระพิเศษ พิจารณารายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ เพื่อให้นายกฯทูลเกล้าฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว เมื่อวันที่ 5 ม.ค.นั้นว่า "สำนักพุทธฯ ยังไม่ได้เสนอรายชื่อใดๆ มาที่ผมเลย"

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!